เบื้องหลัง "เชฟโรเลต" ทำตลาดในไทยนาน 20 กว่าปี ทำไมเจ๊ง ตกงาน 1.5 พันคน

ช็อกวงการเมื่อเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ประกาศยุติขายรถยนต์เชฟโรเลต สัญชาติอเมริกัน ในไทยภายในสิ้นปี 2563 นี้ เป็นการปิดตำนานหลังรุกตลาดไทยมายาวนาน 27 ปี เมื่อปี 2536 กระทั่งทุ่มทุนสร้างศูนย์การผลิตรถยนต์ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด จ.ระยอง บนเนื้อที่ 440 ไร่ และเป็นผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของไทย พร้อมการขยับขยายสายการผลิต ป้อนตลาดไทยและส่งออก

- การออกมาประกาศยุติขายรถยนต์เชฟโรเลตทุกชนิดในเมืองไทย ภายหลังทางจีเอ็ม ตัดสินใจขายศูนย์การผลิตรถยนต์ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด จ.ระยอง ให้แก่เกรท วอล มอเตอร์ส ของจีน คาดจะส่งมอบศูนย์การผลิตรถยนต์ดังกล่าว ปลายปี 2563
- สิ่งที่เกิดในไทย เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ที่จีเอ็ม ต้องปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับทั่วโลก เพื่อกระตุ้นผลประกอบการให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทั้งลดงานด้านการขาย การออกแบบ และวิศวกรรมในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และยกเลิกผลิตรถยนต์ยี่ห้อโฮลเด้น (Holden) ภายในปี 2564
- พร้อมๆ กับการเร่งถอนตัวออกจากตลาดที่ไม่สามารถทำกำไร หลังความต้องการสินค้าในตลาดไทยและตลาดส่งออก มีจำนวนน้อยลง จึงปรับแผนไปพึ่งพาตลาดสหรัฐ จีน ลาตินอเมริกา และเกาหลีใต้ มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ
-การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของจีเอ็ม อาจทำให้มีการเลิกจ้างงานในไทยมากถึง 1,500 ตำแหน่ง และเลิกจ้างงาน 828 ตำแหน่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก่อนหน้านั้นจีเอ็มทั่วโลกประสบปัญหาย่ำแย่มาแล้ว จนเมื่อปี 2562 ได้เลิกจ้างพนักงานในไทยอย่างกะทันหัน กว่า 300 คน
- เมื่อต้องเลิกจ้างพนักงานในไทย ทางจีเอ็ม ประกาศชัดเจนเรื่องความช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด ส่วนศูนย์จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลต จะปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์บริการ
- สุดท้ายยอดขายตก เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้อ นำไปสู่การปิดตำนานเชฟโรเลต ผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของไทย และรถยนต์นั่งรุ่นต่างๆ ไล่ตั้งแต่รุ่นซาฟิร่า, ออพตร้า, กระบะโคโลราโด, อาวิโอ, แคปติวา, ครูซ, โซนิค, เทรลเบลเซอร์ และ สปิน

"สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์" รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า จีเอ็มมียอดขายรถยนต์ในประเทศต่ำกว่า 2% ของภาพรวมยอดขายรถยนต์ในไทยที่มียอดปีละประมาณ 1 ล้านคัน ซึ่งการยุติผลิตรถยนต์ในไทย ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับจีเอ็ม และมีผลด้านจิตวิทยา เพราะเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี

ทั้งนี้ภาครัฐควรสร้างบรรยากาศในประเทศให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และการส่งออก เนื่องจากเงินบาทแข็งค่ากระทบต้นทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยก่อนหน้านี้มาสด้า ได้ย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นเพื่อส่งออก ไปผลิตในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นภาครัฐจึงไม่ควรส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า โดยมองข้ามรถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะหากเงินบาทยังคงแข็งค่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถยนต์จนทนไม่ไหวเช่นกัน

เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า