มี 5 ทีมในไทย กำลังวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19

จากกรณีมีรายงานข่าววันนี้ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงสาธารณสุข จะรับเป็นผู้ทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 คนแรกของไทย ทั้งนี้ทีมวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 สัญชาติไทยในขณะนี้ 5 ทีม ประกอบด้วย

1. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม เป็นชนิด สารพันธุกรรมไวรัส (mRNA) มีการทดสอบในลิงแล้ว

2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม ศ.นพ. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ ผลิตจากใบยาสูบชนิดพิเศษ มีการทดสอบในหนูแล้ว

3. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นชนิด อนุภาคไวรัสเสมือน อยู่ในขั้นเตรียมทดสอบในหนูทดลอง

4. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตจากวัคซีนโปรตีนซับยูนิต อยู่ในขั้นเตรียมทดสอบในหนูทดลอง

5. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผลิตจากวัคซีนชนิดเชื้อตายและอื่นๆ อยู่ในขั้นตอนระหว่างการวิจัย

ซึ่งตามรายงานข่าวแล้วคาดว่า วัคซีนที่นายอนุทิน จะอาสาทดสอบเป็นของทีมที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากใบยาสูบชนิดพิเศษ มีอันตรายน้อยที่สุดเพราะมาจากพืช

สำหรับขั้นตอนกว่าจะได้วัคซีนนั้น ดร.ภก. นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการ กองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม เคยให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 อธิบายได้ง่ายๆ คือ เริ่มจากการทำวัคซีนต้นแบบ จากนั้นจะเริ่มเฟส 1 ด้วยการฉีดวัคซีนในสัตว์ทดลอง (หนูทดลอง) เมื่อผ่านขั้นนี้ได้จึงได้ไปต่อที่ เฟส 2 ด้วยการฉีดวัคซีนต้นแบบในลิง

หากวัคซีนต้นแบบสามารถผ่านเฟส 1 และ เฟส 2 ก็จะได้ไปต่อในเฟส 3 คือการทดสอบในมนุษย์ โดยเริ่มจากจำนวนคนน้อยๆ ไปจนถึงทดสอบในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น วัคซีนจะต้องได้ผลดีในการทดสอบกับมนุษย์ในจำนวนมากเพื่อดูการตอบสนอง

(ดร. ภก. นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการ กองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม)

ส่วนความคืบหน้าภาพรวมของการผลิตวัคซีนของทั่วโลกจาก ดร.ภก.นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยกับ workpointTODAY ในวันนี้ (18 มิ.ย. 63) ว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตอยู่ 2 บริษัท ซึ่งเป็นจากจีนทั้งคู่ ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ คือ ซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบเฟส 3 ในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้คือกลางปี 2564

แต่ทั้งนี้เมื่อได้วัคซีนแล้ว ใช่ว่าจะฉีดได้ทันที เพราะวัคซีนมีฤดูในการฉีด คือจะฉีดก่อนฤดูระบาด 2-3 เดือน ซึ่งวัคซีนตัวนี้คาดกันว่ามีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ที่มีฤดูระบาดในเดือนกันยายน – ตุลาคม ซึ่งต่อจะให้วัคซีนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็ยังต้องรอเวลา

เครดิตข่าวโดย: workpointnews
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า