กทม.ต้องใช้ “หอฟอกอากาศ” 16,000 หอ จึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองได้

ประเทศไทยมลพิษอากาศอยู่ในภาวะทรงตัว ปี 62 พื้นที่ภาคเหนือ-หน้าพระลาน สระบุรี รุนแรงขึ้น กรมควบคุมมลพิษประเมินการใช้ “หอฟอกอากาศ” ต้องใช้ถึง 16,000 หอจึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองกรุงได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าว “4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562″ว่า วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2562 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญ โดยกว่า 90% ของประชากรทั่วโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) และทุกปีจะมีประชากรกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ

ประเทศไทยมีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยกรมอนามัย ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสารและแจ้งเตือนประชาชน ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันสุขภาพตนเอง รวมทั้งสนับสนุนการใช้กฎหมายภายใต้พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยท้องถิ่นสามารถออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมแหล่งก่อความรำคาญ และสั่งให้ระงับได้ มีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ

ด้านนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ 63 ในสถานี ใน 33 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยภาพรวมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมลพิษ 3 ชนิดที่เป็นปัญหา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน(PM10) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน(PM2.5) และโอโซน หากประเมินเชิงเวลา พบว่า จะมีปัญหาค่าเกินมาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. และปลายปีเริ่มเดือนธ.ค. หากพิจารณารายพื้นที่ ประเทศไทยจะมีปัญหาใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่

1. พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2562 เกิดช่วงเดือนก.พ.-ปลายเม.ย. สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตุนิยมวิทยาระบุว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ทำให้แล้งมากขึ้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1-2 องศา และประมาณน้ำฝนลดลง 10 % ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อมีไฟเกิดขึ้นก็จะเผาได้ดี บวกกับแหล่งกำเนิดเกิดจากไฟป่าเป็นหลัก ซึ่ง กว่า 80 % จุดความร้อนจะเกิดในพื้นที่ป่า รวมถึง การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร

(FILES) This picture taken 18 July 2006 shows cyclists passing through thick pollution from a factory in Yutian, 100km east of Beijing in China’s northwest Hebei province. China has no plans to radically change its reliance on coal and other dirty fuels despite already feeling the impacts of global warming, a leading Chinese meteorologist said 06 February 2007. In the first official Chinese response to a stark UN report issued last week on climate change, Qin Dahe said China lacked the technology and financial resources for a wholesale conversion to cleaner energy sources. AFP PHOTO/Peter PARKS/FILES (Photo credit should read PETER PARKS/AFP/Getty Images)

2.พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2562 เกิดปัญหาเร็วและจบเร็วในช่วงเดือน พ.ย. 2561-ปลายก.พ.2562 จากปกติจะยืดถึงเดือนเม.ย. ซึ่งแนวโน้มสภาพอากาศรายปีของกทม.ดีขึ้น โดยสาเหตุหลักของมลพิษเกิดจากจราจร ปริมาณการปล่อยไม่ว่าฤดูใดก็จะใกล้เคียงกัน สถานการณ์ที่มีค่าเกินมาตรฐานจึงขึ้นกับสภาพอากาศเป็นหลัก และ3.พื้นที่ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี สถานการณ์ปี 2562 รุนแรงมากขึ้น ค่าเฉลี่ยมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งที่จะมีการก่อสร้างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตหินปูน มีเหมือนแร่หินปูน และโรงปูน แม้จะการควบคุมฝ่านที่ดีขึ้นมาก เช่น ฉีดน้ำ ล้างถนนมากขึ้น แต่ช่วงหน้าแล้งอากาศก็จะปิด ทำให้สถานการณ์มลพิษเกินมาตรฐาน

นายพันศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขมลพิษทางอากาศ ต้องดำเนินการ 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเฉพาะหน้า โดยเน้นที่การควบคุมแหล่งกำเนิด พื้นที่กทม.ต้องขวดขันวินัยจราจร ทำให้การจราจรคล่องตัว ซึ่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะทยอยเสร็จในปี 2563 การจราจรน่าจะดีขึ้น ส่วนภาคเหนือต้องคุมไฟป่าให้ได้ ส่วนพื้นที่หน้าพระลานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น โรงโม่แบบปิดในอาคาร ถนนคอนกรีตในโรงงาน เป็นต้น และ2.มาตรการระยะยาว จะมีการใช้น้ำมันสะอาดที่จะมีการประกาศใช้ทั้งประเทศในปี 2567 มาตรฐานรถใหม่ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศในปี 2564-2565 แต่การจะเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่ทั้งหมดที่มีกว่า 10 ล้านคันอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

“ขณะนี้ค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นPM2.5พื้นที่กทม.อยู่ที่ 26-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 25 มคก./ลบ.ม.เล็กน้อย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กทม.ในปีหน้าน่าเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือ ซึ่งจากการถอดบทเรียนในปีนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้สำเร็จคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันกวดขันวินัยจราจร เพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลรถยนต์ตัวเอง รถที่ใช้ดีเซลควรเปลี่ยนมาใช้เติมยูโร 5 ที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กได้มากกว่า 20 % ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้หอฟอกอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น กรมฯมีการดำเนินการประเมินในเรื่องนี้ โดยมีผู้เข้ามาเสนอ พบว่า ราคาต่อหออยู่ที่ 60 ล้านบาท ประสิทธิภาพ 10 ล้านคิวต่อวัน เมื่อประเมินอากาศกทม. โดยคูณความสูง 100 เมตรหารด้วย 10ล้านคิว จะต้องใช้หอฟอกอากาศถึง 16,000 หอหากจะฟอกทั้งกทม. และไม่นับรวมงบประมาณที่จะต้องใช้ในการซื้อพื้นที่ที่จะสร้างด้วย ซึ่งในการจะใช้มาตรการใดในการแก้ปัญหาต้องดูความจำเป็นเชิงวิชาการ เมื่อประเทศไทยรู้แหล่งกำเนิดของมลพิษ ก็ควรคุมแหล่งกำเนิดให้ได้” นายพันศักดิ์กล่าว

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2562 จะมีการจัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการมอบรางวัล “Princess Environmental Health Awards” แก่บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและรางวัลประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และตลอดปี 2562 ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ รณรงค์ลดมลพิษอากาศ ด้วยการละเว้นการเผาในที่โล่ง ลดการใช้พลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ เป็นต้น