ไทยพร้อมแค่ไหน เมื่อโควิดในเมียนมารุกคืบชิดชายแดน

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา เป็นความเสี่ยงล่าสุดที่ไทยต้องเฝ้าระวังแนวพรมแดนเพื่อสกัดไม่ให้การระบาดเข้ามาในประเทศ ภายหลังกรมควบคุมโรค ประเมินเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อีกประมาณ 2 สัปดาห์ คาดการณ์ว่าการระบาดที่อยู่ทางตอนกลางของเมียนมาจะขยายพื้นที่มาถึงชายแดน

ตลอดแนวชายแดนทางบกไทย-เมียนมา กว่า 2,400 กม. มีจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน และจุดผ่านแดนชั่วคราวรวมแล้วอย่างน้อย 20 แห่ง ใน 7 จังหวัด แต่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำ คือ จ.ตาก เนื่องจากเป็นจุดที่แรงงานจากเมียนมาเข้าออกจำนวนมากที่สุด ประกอบกับมีแนวชายแดนยาวกว่า 540 กม.

ความคืบหน้าล่าสุด สธ.ได้ดำเนินการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ตะเข็บชายแดน จ.ตาก ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย. แล้ว 2,635 ราย เป็นคนไทย 1,641 ราย ต่างชาติ 994 ราย

ขณะที่วันนี้ (10 ก.ย.) ทางการเมียนมารายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันเดียว 120 คน และมีการล็อกดาวน์ไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในหลายเมือง บีบีซีแผนกภาษาพม่ารายงานว่า ขณะนี้นครย่างกุ้ง ได้กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่แล้ว ขณะที่ในเมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก มีผู้ติดเชื้อ 2 ราย

นพ.จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า การเก็บตัวอย่างคัดกรองเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเน้นกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ที่สัมผัสคลุกคลีกับแรงงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ตามแนวชายแดนฝั่งไทย และกลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่ในเรือนจำ

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าการตรวจคัดกรองให้ได้ประมาณ 10,000 คน นอกจากนี้มีผู้เข้ากักตัวในสถานที่กักตัวของท้องถิ่นจำนวน 18 ราย

"เราค้นหาในคนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ถ้าคนเหล่านี้ไม่พบเชื้อ คน จ.ตาก ก็ค่อนข้างปลอดภัย" นายแพทย์ สสจ.ตาก กล่าว

ส่วนมาตรการการสกัดกั้นชายแดน วานนี้ (9 ก.ย.) นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงมาตรการคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ตาก ว่าได้มีคำสั่งปิดด่านถาวร 2 ด่าน และด่านธรรมชาติ ให้หน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครองแต่ละพื้นที่ตรวจลาดตระเวนในช่องทางธรรมชาติตลอด 24 ชั่วโมง ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมกับ อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ค้นหาแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบผ่านช่องทางชายแดน

จากอินเดีย ถึงเมียนมา เหตุใดไทยถึงเสี่ยง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ถึงปัจจัยความเสี่ยงในภาพของการระบาดทั่วโลกว่าการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศอินเดีย ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมากที่สุดของโลก ส่งผลให้การแพร่ระบาดได้ลามเข้าสู่ บังกลาเทศ และเมียนมา

สัปดาห์นี้ อินเดีย ครองสถิติ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก กว่า 4.2 ล้านราย

การระบาดในเมียนมารอบสอง แม้วิกฤตหนักในรัฐยะไข่ ทางตอนกลางของประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินว่าอาจขยายมายังพื้นที่ชายแดนได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีหลายจังหวัดมีพรมแดนติดกับเมียนมา หน่วยงานด้านความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุขได้เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ในผู้ที่เดินทาง และเพิ่มการเฝ้าระวังแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

ด่านแม่สอด จุดใหญ่เข้าออกแรงงานเมียนมา

นพ.จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ที่ จ.ตาก ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มาแล้วกว่า 170 วัน

เขากล่าวว่าตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 จ.ตาก ตื่นตัวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีด่านที่เป็นท่าธรรมชาติ 50-60 ท่า สะพาน 2 แห่ง และสนามบินนานาชาติ อีกทั้งฝั่งตรงข้าม มีนิคมอุตสาหกรรมของคนจีน อยู่ 20,000 คน ทำให้มาตรการการป้องกันเมืองเข้มข้นกระทั่งตอนนี้ผ่านไป 5 เดือน จ.ตาก ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

นายแพทย์ สสจ. ตาก ยอมรับว่า สถานการณ์ในเมียนมาที่มีการระบาดรอบสองกระจายทั่วประเทศ ทำให้ต้องทวีความเข้มข้นของมาตรการขึ้นอีกขั้น

นพ.จรัญ เล่าถึงกลุ่มเสี่ยงที่ลักลอบข้ามแดนมาฝั่งไทยซึ่งได้สอบถามในเรือนจำว่า บางส่วนเป็นคนจีน พวกเขาบอกว่า ฝั่งเมียนมาไม่มีงานทำจึงหนีข้ามมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับกุมและให้คัดกรองตรวจหาเชื้อตามขั้นตอน

"ด่านแม่สอด คนออกตอนเดือน มี.ค. 40,000-50,000 คน ถ้าเขาไปอยู่ฝั่งโน้นไม่มีอะไรกิน ไม่มีงานทำ รายได้ เขาก็ต้องกลับประเทศไทย ที่สำคัญคือ ฝั่งไทยปลอดภัย เขาคิดว่าปลอดภัยยังไงก็หนีกลับ"

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า