บีบีซีโพลล์ 27 ประเทศ พบคนไทย 81% รายได้หายเพราะ โควิด-19

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยบีบีซีพบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนรุนแรงกว่าใคร และทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่วโลก โดยพบว่า คนไทย 81% ได้รับผลกระทบด้านการเงิน

ผลสำรวจที่บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส มอบหมายให้ โกลบสแกน (GlobeScan) บริษัทผู้ให้บริการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจัดทำขึ้นใน 27 ประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย.2020 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง

การสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนกว่า 27,000 คนถึงผลกระทบที่โรคระบาดครั้งนี้มีต่อชีวิตของพวกเขา

ผลสำรวจพบว่า วิกฤตไวรัสส่งผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

นายคริส คูลเตอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโกลบสแกน กล่าวว่า "หนึ่งในถ้อยคำที่มักกล่าวถึงในการระบาดใหญ่ครั้งนี้คือ "เราทุกคนล้วนประสบกับปัญหานี้ร่วมกัน"

"แต่ผลโพลล์ของเรากลับพบสิ่งที่ตรงกันข้าม...โดยพบว่าประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด" เขากล่าว

โลกแห่งความเหลื่อมล้ำ
ผลสำรวจความคิดเห็นชิ้นนี้พบว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนมากที่สุด และทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นอยู่นั้นเลวร้ายลงไปอีก

โดยจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้ามากที่สุดในโลก

โดยพบว่า 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศยากจนซึ่งอยู่นอกกลุ่ม OECD มีรายได้ลดลงเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศกลุ่ม OECD ที่ร่ำรวยกว่าราว 45% ที่มีปัญหานี้

ผลสำรวจยังพบว่าผู้คนในประเทศแถบลาตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา มีแนวโน้มมากกว่าที่จะระบุว่าพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาดครั้งนี้ เมื่อเทียบกับคนในยุโรปและอเมริกาเหนือ

โดยคนในเคนยา (91%), ไทย (81%), ไนจีเรีย (80%), แอฟริกาใต้ (77%), อินโดนีเซีย (76%), และเวียดนาม (74%) มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงิน

ประชาชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะระบุว่าปัจจุบันพวกเขามีเงินน้อยลง

แต่ในทางกลับกัน ประชาชนผู้มีรายได้สูงในประเทศออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, รัสเซีย และสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มมากกว่าที่จะได้รับผลกระทบด้านการเงินจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับคนที่มีรายได้น้อยที่สุด

ผลกระทบที่แตกต่างของคนในแต่ละกลุ่มวัย
ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า กลุ่มคนอายุน้อยกว่าได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า นี่อาจเป็นเพราะพวกเขามีโอกาสน้อยกว่าในการทำงาน การมีเส้นสายในสังคม และการศึกษาหาความรู้ในช่วงเกิดโรคระบาด

55% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคน Gen Z (ผู้เกิดในช่วงกลางทศวรรษ 1990 จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010) และ 56% ของคนยุคมิลเลนเนียล (Millennials) ซึ่งเกิดระหว่างช่วงต้นทศวรรษ1980 และช่วงกลางทศวรรษ 1990 บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก

ในทางกลับกัน มีเพียง 49% ของคน Gen X ที่เกิดระหว่างปี 1965 - 1980 และ 39% ของคนยุคเบบี้บูม (Baby Boomers) ที่เกิดระหว่างปี 1946 - 1964) ที่บอกว่าพวกเขารู้สึกแบบเดียวกัน

คน Gen Z เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการเงินจากวิกฤตครั้งนี้รุนแรงที่สุด โดย 63% ของคนรุ่นนี้บอกว่าพวกเขามีรายได้ลดลง ขณะที่มีคนยุคเบบี้บูม เพียง 42% ที่พูดแบบเดียวกัน

กลุ่มคนที่อายุมากกว่ามีแนวโน้มจะรอดพ้นจากผลกระทบทางการเงินและทางสุขภาพมากกว่า โดย 56% ของคนยุคเบบี้บูมและผู้มีอายุมากกว่านั้นบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า