22 มี.ค. 2563
“แมลง” เมนูใหม่มาแรง โปรตีนทางเลือก…นับวันยิ่งโต
ความนิยมแหล่งโปรตีนทางเลือกอย่างเนื้อวัวเทียม เนื้อไก่เทียมจากโปรตีนพืชของบียอนด์มีท หรืออิมพอสซิเบิลเบอร์เกอร์ ที่เชนฟาสต์ฟู้ดหลายแห่งนำไปใช้ รวมถึงเนื้อหมูของสตาร์ตอัพอีกหลายรายในจีน จนทำให้ตลาดโปรตีนจากพืชมีมูลค่ากว่า 4.2พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 และได้เปิดทางให้กับแหล่งโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ ได้มีความหวังจะขยับจากตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีเสิร์ฟเฉพาะแค่ในร้านเฉพาะทางมาโลดแล่นในตลาดหลัก
หนึ่งในนั้นคือ แมลง ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนคุณภาพดีแล้ว ยังมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อวัว ไก่ หรือปลา รวมถึงยังมีใยอาหารและไขมันดีมากกว่าอีกด้วย โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พยายามโปรโมตเมนูแมลงมาตั้งแต่ปี 2556 ล่าสุดสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า “บาร์เคลย์” ธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ของอังกฤษประเมินว่า กระแสนิยมแหล่งโปรตีนทางเลือกที่กำลังมาแรงตลอดช่วงหลายปีนี้ จะผลักดันให้ตลาดแมลงสำหรับใช้เป็นอาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว จากเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2562 เป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 หรืออีก 10 ปีเป็นผลจากความสำเร็จของการเปิดตัวเมนูเนื้อเทียมของฟาสต์ฟู้ดแต่ละราย เช่น เคเอฟซี ที่ทำยอดขายนักเก็ตเนื้อไก่เทียมจำนวนเท่ากับ 1 สัปดาห์ ได้ภายในวันเดียว ช่วยสะท้อนความสนใจและพร้อมควักกระเป๋าจ่ายเงินกับสินค้ากลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม แม้แมลงจะมีจุดแข็งเหนือกว่าเนื้อชนิดอื่นหลายด้าน แต่การนำมาทำอาหารนั้นยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหลักของโปรตีนทางเลือกอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนต้องพยายามปลุกปั่นเมนูจากแมลงกันเข้มข้นเป็นพิเศษ เช่น “โจเซฟ ยูน” เชฟและซีอีโอของบรุกลินบัก กลุ่มสนับสนุนการนำแมลงมาทำอาหาร กล่าวว่า การจะทำให้ชาวอเมริกันเปิดรับเมนูจากแมลงได้นั้น ขั้นแรกต้องปรับภาพลักษณ์ลบภาพการเป็นสัตว์น่ารังเกียจ พร้อมเปลี่ยนให้การกินแมลงเป็นเรื่องสนุกเสียก่อน
ด้วยการนำเสนอเมนูจากแมลงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่โชว์ให้เห็นแมลงที่นำมาใช้อย่างชัดเจน หรือเมนูที่หากไม่บอกก็จะไม่รู้ว่าใช้แมลงเป็นวัตถุดิบ จะช่วยสะท้อนว่าเมนูแมลงสามารถดัดแปลงได้หลากหลายและรองรับได้กับทุกกลุ่มโดยไม่มีข้อจำกัด รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการทดลองและเปิดรับมากขึ้นในระยะยาว
สอดคล้องกับความเห็นของ “โมนิกา มาติเนส” ซีอีโอของดอนบูกิโต บริษัทผลิตขนมขบเคี้ยวจากแมลง เช่น จิ้งหรีดย่าง หรือเคลือบช็อกโกแลตที่ออกมายืนยันว่า นอกจากการเพาะเลี้ยงแมลงจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว อาหารจากแมลงยังเป็นมิตรกับสุขภาพด้วย เพราะแมลงบางชนิดมีโปรตีน, ใยอาหาร, ไขมันดี และวิตามินเท่ากับหรือสูงกว่าปลาเสียอีก
นอกจากการใช้ทำเมนูอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว การนำแมลงมาทำอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงยังเป็นอีกวิธีที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างการยอมรับในหมู่ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือมิลเลนเนียล “แอน คาลสัน” ซีอีโอและผู้ก่อตั้งจีมินี ผู้ผลิตอาหารสุนัขจากจิ้งหรีด อธิบายว่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกที่จะทำให้อาหารของสัตว์เลี้ยงตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยจึงเปิดรับได้ง่ายขึ้น เพราะในแต่ละปีสุนัขในสหรัฐกินโปรตีนรวมกันประมาณ 3.2 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 14.5 ล้านตัน โดยการผลิตเนื้อวัวจำนวนมากขนาดนี้ต้องสร้างก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
แน่นอนว่า จิ้งหรีดถือเป็นตัวเลือกที่มีศักยภาพสำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารปริมาณมาก เพราะการเพาะเลี้ยงปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และใช้พื้นที่เพียงหยิบมือเมื่อเทียบกับการเลี้ยงวัวซึ่งต้องมีทั้งโรงเลี้ยงและพื้นที่เปิด
ปัจจุบันแม้องค์การอาหารและยาของสหรัฐยังไม่ยอมรับการใช้จิ้งหรีดเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสุนัขอย่างเป็นทางการ แต่บริษัทเตรียมผลักดันอย่างเต็มที่ทั้งการสนับสนุนงานวิจัยและรวบรวมเอกสารต่าง ๆ เพื่อยื่นขออนุมัติ
“เมื่อทดลองนำอาหารที่ผลิตจากจิ้งหรีดให้สุนัขทดลองกิน พวกมันยังชอบมากอีกด้วย ยิ่งยืนยันว่าเรามาถูกทาง”
ความพยายามเหล่านี้อาจทำให้เมนูอาหารจากแมลงกลายเป็นกระแสฮิตเหมือนเนื้อเทียมก็เป็นได้
เครดิตข่าวโดย: ประชาชาติ