หนุ่มใจหาย! สถานการณ์ห้างไอทีดัง ปัจจุบันเงียบ คนไม่เดิน ร้านค้าทยอยปิดตัว

หนุ่มโพสต์เว็บบอร์ดดังสุดใจหายอดีตห้างไอทีชื่อดังที่ปกติจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนมาวันนี้สถานการณ์เงียบเหงา คนน้อย หลายร้านทยอยปิดตัว วิเคราะห์ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปช้อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงงานมหกรรมไอทีขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยโปรโมชั่นลดราคา ฯลฯ

กระทู้จากผู้ใช้งาน Pantip ไอดี bookman ใช้หัวข้อว่า "XXXXพลาซ่า … 2020 … เหลือไว้แต่ความทรงจำ และวิพากษ์ตลาดสินค้าไอที" เผยประสบการณ์การกลับมาที่ห้างไอทีชื่อดังเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระบุว่า "ปีที่แล้วจำได้ว่า แวะไปประชุมละแวกนั้นแล้ววนเข้าไปจอดรถที่XXXXพลาซ่า เจอกับที่จอดรถซึ่งโล่งมาก (ใต้ดิน) เลยติดใจใช้เป็นที่จอดรถซะเลย เพราะเข้าออกง่าย ไม่ต้องวนขึ้นตึก สองสัปดาห์ที่แล้วไปอีกรอบ ยามบ่าย วันอาทิตย์ วันที่ถ้าเป็นเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว แทบจะต้องขี่คอกันจอดรถ วนกันขึ้นไปถึงชั้นบนสุดแล้วก็ติดค้างนิ่งๆ กับทางวกขึ้นลงที่แคบๆ ส่วนชั้นใต้ดิน ถ้าไม่สวดมนตร์มาดีๆ ก็คงไม่มีบุญได้จอด แต่อาทิตย์ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ช่วงบ่าย .. ลานจอดรถใต้ดินโล่งเกลี้ยง ครั้งนี้พอมีเวลา เลยแวะชมสภาพรกร้าง (ที่เคยเห็นปีที่แล้ว) พบว่า "ร้างยิ่งกว่าเก่า" ดังนั้นเลยอยากบันทึกความทรงจำเอาไว้สำหรับห้างฯ ที่เคยเป็นตำนาน … [ใครมีความทรงจำอยากแชร์ รบกวนช่วยกันแชร์ครับ -- ของผมคนเดียวอาจจะไม่ครอบคลุม]"

1. ยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของห้างนี้น่าจะเป็นยุค MP3 และ Vampire Record: จำได้ว่าช่วงนั้นแม้แต่ตระกูล Vampire เองก็ยังมีของแท้ของเทียมและมีอีกหลายค่ายเถื่อนๆ ออกแผ่น MP3 ตามๆ กันมา บรรยากาศสมัยนั้นคือ แผ่นเพลงเถื่อนและซอฟต์แวร์เถื่อนมีให้เลือกมากมายจนนับไม่ถ้วน ยอมรับว่าสมัยโน้นซอฟต์แวร์ในเครื่องผมเป็นเถื่อน 100% แต่พอเริ่มทำงาน ก็หยุดพฤติกรรม ตอนนี้พูดได้เต็มปากว่า แท้ 100%

2. สิ่งที่น่ารำคาญที่สุดของห้างXXXXยุคเฟื่องฟูสำหรับผม:
- ที่จอดรถ หายาก ขาดแคลน เบียดเสียด ทางวนขึ้นลงที่ใกล้กันมาก จนรถติดเป็นงูกินห้าง ช่องจอดรถริมผนังซอกริมสุดที่แยกแบบฉายเดี่ยว ช่องนั้นควรจอดคันเดียว แต่ที่นี่จอดสองคัน
- บรรดาแผ่นโป๊ที่ขายแบบฮาร์ดคอร์ น่ารำคาญมาก ถ้าจะซื้อ เดี๋ยวไปเลือกเอง
- สารพัดการหลอกลวงและหลอกฟัน นิสัยช่าง ก็คือ นิสัยช่าง ฟันได้เป็นฟัน เคยเจอกับตาหลายครั้ง ของลูกค้าไม่ได้เสีย บอกว่าเสีย เพ่แค่เอายางลบมาถูแรมก็ใช้ได้แล้ว
- เรียกรถหน้าห้างยากมาก แท็กซี่แถวนั้นก็ขึ้นชื่อพอๆ กับแถวมาบุญครอง คือ กะฟันนักท่องเที่ยวอย่างเดียว บางทีถ้าอยากได้รถ ต้องยอมแบกคอมฯ ข้ามสะพานลอยไปเรียกฝั่งตรงข้าม
- รถติดมโหฬาร ก่อนมีแพลตทินัม โซนนั้นรถติดก็เพราะห้างนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญ
- ฟูดคอร์ตช่วงก่อนปรับปรุง โค ตะ ระ สกปรก แมลงสาบเดินเล่นกันว่อน ; ปรับปรุงแล้วก็ดีขึ้น แต่อาหารก็แพงขึ้น จำได้ว่าเคืองที่สุดคือค่าน้ำโค้กแก้วละ 25 หรือ 30 บาท จำไม่ได้ (ยุคนั้นข้างนอกน่าจะขาย 10-15 บาท)

3. ทำไมถึงร้าง (ความเห็นส่วนตัว)
- หลักๆ ก็เจอเรื่องยุคเปลี่ยนถ่ายจากคอมฯ สู่มือถือ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อสิบปีกว่าๆ ที่แล้ว
- หลายปีหลังมานี้เจอชอปปิงออนไลน์บนแพลตฟอร์มใหญ่เข้าไป (จากเดิมคนขายออนไลน์ต้องไปนั่งทำเว็บไซต์เอง โปรโมตเอง หรือใช้เว็บสำเร็จรูป แต่ปัจจุบันกลายเป็นตลาดกลาง มีระบบมาให้หมด พร้อมกับระบบโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นเยอะ -- ใครก็เป็นพ่อค้าได้ ส่วนต่างราคาก็แคบลงเรื่อยๆ แถมไม่ต้องถ่อไปถึงกลางเมือง)
- โมเดลร้านไอทีที่กระจายตัวมากกว่าเดิม เรียกว่า เปิดไปทั่วทุกห้าง มีทั้ง JIB, Banana IT, IT City แต่ที่ต้องขอบคุณมากที่สุดคือ Advice .. โมเดลพี่ท่านสร้างความตื่นตัวให้วงการได้มากจริงๆ
- งานคอมฯ ที่จัด 3 ครั้งต่อปี (เดี๋ยวพูดเรื่องนี้กัน) ใครๆ ก็รอซื้องาน Commart … ถูกกว่า มีโปรบัตรเครดิต ได้จับของจริงครบทุกค่าย ได้ต่อรองราคาแบบที่คนซื้อเป็นต่อ รอแค่ 4 เดือน อดใจรอได้ (และก็เป็นการฆ่าตลาดไอทีไปในตัวด้วย)
- เจ้าของห้างตอนนี้ … ความเห็นส่วนตัว … บริหารห้างไหน เงียบแทบทั้งนั้น เอาเฉพาะประสบการณ์รอบตัว เพื่อนฝูงคนรู้จักที่เปิดร้านในห้างเครือนี้ ปิดร้านกันเกลี้ยง แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่บริหารไม่เป็น อาจเป็นเพราะรวยจนไม่จำเป็นต้องบริหาร ถึงห้างเจ๊ง ที่ดินแต่ละจุดก็ขายได้สบายๆ หรือไม่ก็ขึ้นคอนโดฯ ซะ อีกทั้งยังรวยจนอยู่ในระดับที่ห้างเจ๊งแค่ไม่กี่ห้าง ไม่ใช่เรื่องที่น่าเดือดร้อนเลย
- ช่วงนึงมีปัญหากันระหว่างผู้ขายและห้าง ช่วงนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระส่ำ เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญ ออกเป็นข่าวดัง บลัฟกันไปมา แต่ท้ายสุด .. น่าจะพังกันทุกฝ่าย ทั้งที่กอดคอกันรุ่งเรืองมาตั้งนาน ในฐานะคนวงนอก ก็งงเหมือนกันว่าจะปรับปรุงห้างอะไรกันนานขนาดนั้น

4. การปรับตัวของร้านค้า

- เป็นเรื่องที่หลายคนฟังแล้วเบื่อหน่ายและเมินหน้า จะให้ปรับตัวอะไรกันอีก … แต่มันก็ต้องปรับครับ
- ตลาดไอทีไม่ได้เหมือนเดิมและไม่มีวันเหมือนเดิม เมื่อก่อนราคาไม่ได้โปร่งใสแบบทุกวันนี้ ดังนั้นจึงมีช่องว่างราคาให้เล่นเยอะมาก ทุกวันนี้เราไม่ได้เทียบราคากันเฉพาะระหว่างร้านค้า แต่คนซื้อเทียบราคาและวัดความคุ้มค่ากับราคาในประเทศอื่นด้วย
- หน้าร้านมีต้นทุนเยอะกว่าก็จริง ดังนั้นตามตรรกะแล้ว จึงขายราคาถูกเท่าออนไลน์ไม่ได้ > ราคาแพงกว่า คนก็มาดู แล้วก็ไปซื้อออนไลน์ > ท้ายสุดก็ต้องปิดร้านไปอยู่ดี ; แต่ถ้าราคาต่างกันไม่เยอะ ของหลักพัน ราคาต่างกัน 10% (แต่ที่เจอคือ บางทีต่างกัน 20-30%) แบบนี้มีหลายคนพร้อมที่จะซื้อเลย อย่าลืมว่าคนรวยหรือมีเงินในกระเป๋า หลายคนไม่ได้คิดเยอะขนาดนั้น แต่ที่คิดเยอะกว่าตัวเงินก็คือ "ความเจ็บใจที่โง่ต้องซื้อแพง"
- ตัวอย่าง: ล่าสุดไปเดินงาน "โมบายเอ็กซ์โป" หาซื้อมือถือ realme .. ทุกเจ้าคงโดนคุมราคามา ขายเท่ากันหมด ของราคาต่ำกว่า 5,000 แต่ซื้อออนไลน์ประหยัดไปเกือบพัน ทั้งที่จับดูแล้วก็ชอบใจ ถ้าต่างกัน 300-400 บาท ยังพอรับได้ สรุปก่อนกลับ ยืนกดสั่งออนไลน์ตรงนั้นเลย ประกันศูนย์เหมือนกัน จบ !! (เคสนี้เกิดขึ้นเพราะการฆ่ากันเอง) ; หรือคีย์บอร์ด Logitech ราคาหน้าร้านเกือบพันห้า ราคาออนไลน์ 800 ต่างกันแบบนี้ไม่กล้าควักเงินจ่ายจริงๆ
- ที่อเมริกา: ร้านค้าปลีกได้รับผลกระทบจาก Amazon และ eBay เยอะมาก แต่ก็ยังพออยู่รอดได้ ราคาก็ต่างกันไม่เยอะมาก ปีก่อนผมขนสินค้าไอทีกลับมาเยอะ ได้มาปนๆ กันทั้งจาก Bestbuy, Walmart, Amazon, eBay สัดส่วนสูสีกัน
- ตรรกะ: ลูกค้าแวะมาถึงหน้าร้าน แสดงว่า มีโอกาสซื้อเต็มที่ (เทียบกับออนไลน์ก็คือ กดเข้าตะกร้าไปแล้ว รอกดจ่ายเงิน) ดังนั้นเฉือนมาร์จิ้นสักนิด ดีกว่าปล่อยให้หลุดมือไปและไม่ได้อะไรกลับมาสักบาท
- พนักงานขายไอทีในร้าน บางทีเยอะจนไม่รู้จะเยอะไปไหน อย่างผมไปXXXXล่าสุด พนักงานร่วม 20 ชีวิต (ที่จัดงานด้านล่าง) ลูกค้ามีอยู่ 3-4 คน เดินตามกันเป็นพรวน ทักทายกันทุกมุมชั้นวาง น่ารำคาญมาก ส่วนห้างเมืองนอก ค่าแรงแพง ดังนั้นจึงลดต้นทุนด้วยการมีพนักงานน้อยมาก อยากได้ข้อมูลอะไร ต้องตามและรอกัน 5 นาทีกว่าจะเดินมาช่วยดู (ซึ่งลดต้นทุนค่าพนักงานได้ด้วย และเป็นแนวทางรอดที่ดี)
- ร้านค้าเดิมๆ ที่ทำตัวเป็นเพียงร้านค้า ก็ย่อมไม่เหลืออะไรให้เล่นนอกจาก "ราคา" เพราะเจ้าของร้านบางส่วนก็มาจากสายไอที อะไรนะ? การตลาด? CRM? Customer Experiences? Loyalty? ไม่มีและไม่สนใจ
- ลองจินตนาการนะครับ (ซึ่งทำง่ายมาก): ซื้อโน้ตบุ๊กวันนี้ > อีก 7 วัน โทรถามลูกค้าว่า มีปัญหาอะไรมั้ย ถ้ามีเอามาเปลี่ยนได้เลยนะ > อีก 30 วันส่งอีเมลหาลูกค้าขอบคุณและเสนอขายแอนตีไวรัส > ส่งอีเมลหรือ LINE ให้ลูกค้าทุกเดือน บอกเคล็ดลับการป้องกันความปลอดภัยและทำให้เครื่องทำงานได้เร็วเหมือนใหม่อยู่ตลอด > ก่อนครบปีแจ้งลูกค้าว่า แอนตี้ไวรัสจะหมดอายุแล้ว อย่าลืมต่ออายุ > ครบปีแจ้งลูกค้าให้ยกเครื่องเข้ามาเช็คสภาพ หากเป็นพีซีก็ช่วยเป่าฝุ่นให้ฟรี > มีช่องโหว่ใหม่ออกมา ส่งข้อความแจ้งลูกค้าว่าอย่าลืมอัพเดตนะ > มีโปรใหม่ที่เด็ดๆ ส่งหาลูกค้าได้ แต่ไม่ใช่โปรฯ มันทุกวันทุกสัปดาห์ > มีสายด่วนหรืออีเมลคอยช่วยตอบคำถามการใช้งานทั่วไปให้ลูกค้าฟรี > เปิดบริการขายเครื่องมือสอง กินหัวคิว แล้วขายรุ่นใหม่ให้ลูกค้า > บริการรับเครื่องเคลมถึงบ้านฟรี (ปีนึงมันจะเคลมกันกี่ครั้ง ล่าสุดผมใช้เอเซอร์มา 10 ปี ไม่เคยมีปัญหาต้องเคลมสักครั้งเดียว) > จัดอบรมเทคนิคการใช้งานฟรี (ประหยัดกว่าเอาเงินไปซื้อโฆษณาออนไลน์ที่แพงขึ้นทุกวัน) ฯลฯ ----> ถามว่า ลูกค้าจะหนีไปไหน?

[เติม] ใช้เงินกับ AIS ปีละแค่ 12,000 แต่ได้ของขวัญและ SMS สุขสันต์วันเกิดทุกปีร่วม 20 ปี … แต่ซื้อคอมฯ ครั้งนึงหมด 4-5 หมื่น ได้คำขอบคุณหนึ่งครั้ง และจบๆ กันไป …. เลยไม่รู้จะไปจงรักภักดีกับใคร

6. สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง: พนักงานขาย ไม่ว่ายุคไหน มีคนที่ผมรำคาญพอๆ กัน

- พนักงานขายหลายร้าน (และจนถึงบัดนี้) บางท่านชอบทำตัวเป็นผู้รู้ … ซึ่งรู้แบบไม่ได้รู้หมด แต่ชอบทำเหมือนรู้หมด … และบางท่านชอบดูแคลนผู้ซื้อว่าไม่รู้เรื่อง เรียกว่า กว่าจะเจอร้านประจำ (อิทธิพัฒน์ - ข้างแม่ไม้เพลงไทย - เจ้าของเดียวกับ Banana IT ปัจจุบัน) ก็ไฝว้กันไปหลายร้าน
- เจอประกอบไม่เรียบร้อยบ่อยมาก แต่ช่างมักไม่โทษตัวเอง ชอบโยน User Error ก่อนโดยไม่ถาม สิ่งที่เจอบ่อยสุดคือ ลืมเสียบสาย CD ROM drive และยุคถัดมาก็จะเป็นสาย Card Reader
- ล่าสุดเดินซื้อของในงานXXX เจอพนักงานขายร้านดังปากดี "โน้ตบุ๊กสเปคอย่างที่พี่อยากได้ไม่มีในโลกหรอก หรือถ้ามีก็แพงมาก พี่ซื้อไหวเหรอ" [ถ้าไม่รู้จักกับคนจัดงาน น่าจะมีตบปากกันตรงนั้น] และแอบได้ยินคนขายนินทาลูกค้าคนอื่น "แ ม ง แปลกคน ของราคาดีๆ ไม่ซื้อ สงสัย โ ง่ ต้องให้ขายแพงๆ" (เพ่ครับ ซีพียูตกรุ่นไปสองเจนฯ ราคาไม่ได้ถูกมากมาย ลูกค้าคนนั้นไม่ซื้อก็ไม่แปลก) ; "ซื้อของในงานแบบนี้ ผมไม่มีเวลามาดูแลเยอะๆ หรอกนะ มันต้องรีบคุยรีบขาย" --- ครับ นิสัยพนักงานขายไอทีส่วนนึง ไม่เคยพัฒนาจริงๆ
- ขนาดผมคลุกคลีกับโลกไอทีมากว่า 30 ปี เจอพนักงานขายหรือช่าง .. ยังสัมผัสถึงรังสีความไม่น่าไว้วางใจได้ตลอด
- ไม่ใช่ทุกคนไม่ดี แต่ที่เจอบ่อยๆ คือ 1) รู้มากและดูแคลนคนอื่น 2) รู้ไม่มากแต่อวดรู้ 3) ท่องจำมาและทำเป็นรู้ 4) รู้แต่ราคาและไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย
- อย่างช่างและพนักงานร้านข้างแม่ไม้เพลงไทย … ผมใช้บริการมาจนถึงวันนี้ แยกย้ายกันไปไหน ก็ยังตามไปใช้บริการตลอด เพราะคุยด้วยได้โดยไม่ต้องระแวง

7. การฆ่ากันเองในวงการ

- ComXXXX จากเดิม 2 ปีครั้ง กลายเป็น 3 ปีครั้ง … เละครับ ; เรียกว่าแบรนด์ต่างๆ บ่นกันระงม เพราะคน "รอ" งาน [แต่ทุกวันนี้งาน Comxxx ก็คนน้อยลงเยอะครับ เคยเสนอให้ปรับตั้งนานนม ก่อนที่จะมี Mobile Expo ด้วยซ้ำ แต่อารมณ์ขาใหญ่ยุคนั้น มีปัญหากับบางแบรนด์จนถอนตัวกันไปบ้าง และไม่เชื่อในศักยภาพของตลาดมือถือมาก … ถ้าวันนี้ Comxxx มีทั้งคอมฯ และมือถือ -- คงมีสถานการณ์ที่ดีกว่านี้]
- บรรดามาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ เว็บชอปปิงดังๆ ใช้วิธีซื้อสินค้าแบบ "ราคาโปรเจ็กต์" ซื้อโดยตรงจากแบรนด์ แล้วไปปล่อยตัดราคาดีลเลอร์ เรียกว่า ดีลเลอร์อ้าปากค้าง บางทีแบรนด์เองก็ไม่รู้ว่าโดนไม้นี้ แต่หลังๆ ถึงรู้ก็ต้องปล่อย เพราะซื้อสด ซื้อเยอะจริง แบรนด์ก็เอาตัวรอด
- นับตั้งแต่ดิสตรีฯ ขาใหญ่บางรายหมดมนตร์ขลัง ก็ถือกำเนิดจตุราชาขึ้นมาใหม่ ทีนี้การแข่งขันรุนแรงกว่าเดิม
- พี่จีนลุยตลาดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชไทยด้วยอีกคน ราคายิ่งเละเทะไม่เป็นท่า
- บรรดาพ่อค้าหน้าใหม่ อาศัยช่องว่าง ตรูไม่ต้องเสียภาษี ขายของหิ้วประกันร้าน (ซึ่งเอาเข้าจริงหลายครั้งก็แค่ประกันใจ) เฉือนมาร์จิ้นให้บางลงไปอีก
- ตราบใดที่ไม่สามารถสร้าง Ecosystem ได้เข้มแข็งแบบครบวงจร … แต่ละแบรนด์ก็ต้องฆ่ากันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ตลอดไป ไม่เฉพาะเจ้าของแบรนด์ แต่รวมไปถึงทุกคนที่อยู่ในวงจรห่วงโซ่ที่ว่า

8. การฆ่าตัวเอง
- เมื่อประสบภาวะลำบาก นอกจากจะต้องเจอสงครามราคา บรรดาห้างและงานแฟร์อย่างคอมมาร์ตหรือโมบายเอ็กซ์โป ก็ฆ่าตัวเองด้วยการยอมสูญเสียอัตลักษณ์
- ห้างฯ ที่ร้างด้วยไอที และแทนที่ด้วยร้านรองเท้ากีฬาและเสื้อผ้าราคาถูก … จะสร้างภาพจำอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับมีร้านปิดกิจการจำนวนมาก (ทั้งที่การปิดร้านถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้บริหารพื้นที่)
- งานคอมมาร์ตที่เคยจัดใหญ่เต็มศูนย์สิริกิติ์ พอถึงยุคที่หาคนมาลงได้ไม่เต็มพื้นที่ แทนที่จะลดพื้นที่ แต่กลับมีร้านค้าสารพัดอย่างมาขายปะปน ทั้งลูกชิ้นปิ้ง ขนมจีนน้ำยา รองเท้ากีฬา เสื้อผ้า ศูนย์การศึกษา ยารักษาโรค ฯลฯ
- งานโมบายเอ็กซ์โปที่เพิ่งไปมา ก็เริ่มเละเทะตามรอย เริ่มมีอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวข้องปะปนมา อย่างบางเจ้ามาตั้งบูธแต่ปิดบูธ ..
- อัตลักษณ์ที่ชัดเจนในพื้นที่เล็ก ย่อมดีกว่าอัตลักษณ์ที่มั่วซั่วในพื้นที่ใหญ่ เพราะคนเราเวลาเห็นอะไรที่แปลกตาแล้วมักจำ -- ห้างไหนที่ขาดอัตลักษณ์ ห้างนั้นมักอยู่ไม่ได้ จุดเด่นคือความกว้างและครอบคลุม=ทำได้ … แต่ลักษณะที่มั่วซั่วเพราะจำต้องหาทางปล่อยพื้นที่ให้หมด ไม่ใช่ผลดีเลยในระยะยาว

9. ความหลังและปัจจุบัน

- คอมฯ เครื่องแรกที่ซื้อคือ 286 จอเขียว
- คีย์บอร์ด IBM ยุคเก่า ยังมีเก็บไว้เป็นที่ระลึกหนึ่งตัวที่บ้าน และไม่กล้าทิ้ง
- ฮาร์ดดิสก์ลูกแรกที่เก็บเงินซื้อเองสมัยเรียนมัธยมคือ 120MB (ครับ … Megabyte) ราคา 12,000 บาท
- ซอฟต์แวร์ตัวแรกที่ซื้อคือ Norton Antivirus ซึ่งเคยแย่อยู่ยุคนึง แต่ตอนนี้ใช้ดีมาก
- แบรนด์ที่ใช้ประจำมากที่สุดคือ Acer ใช้มาแล้วรวมสิบปี ไม่ผิดหวัง ชอบตรงที่ "ประกัน 3 ปี บริการรับส่งเครื่องถึงบ้าน"
- แบรนด์ที่ไม่ชอบที่สุดตอนนี้คือ Lenovo เพราะจะซื้อแรมหรือฮาร์ดดิสก์เพิ่มจากศูนย์ โดนค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ด้วย
- ซอฟต์แวร์ที่ซื้อแล้วใช้ไม่คุ้มที่สุดคือ Adobe -- เปิดปีนึงไม่กี่ครั้ง เอาไว้เปิดดูไฟล์จากลูกน้อง แต่เสียเงินหลักหมื่น
- สเปคคอมฯ ที่ใช้ตอนนี้คือ Core i7, RAM 32GB, NVIDIA อะไรขี้เกียจเปิดดู, SSD 512GB + 2TB, จอ 17 นิ้ว (9 Feb 20 - 6:05 AM - แก้ไข 512MB > 512GB - ขอบคุณ phgeng, 1325245 ที่ทักเข้ามาครับ)
- สำหรับสเปคโน้ตบุ๊กบรรทัดบน แนะนำว่าอย่าเชื่อพนักงานขาย ที่บอกว่า หนักกว่า 15.6 นิ้วแค่ไม่ถึงโล ไม่หนักขึ้นหรอก แต่รวม Adapter แล้ว บวกๆ ปนๆ กัน บอกเลยว่า แบกทุกวันอย่างผม หลังหัก

10. สิ่งที่หลงรักXXX ณ ปัจจุบัน

ปล. เล่าแบบไม่เป็นเรื่อง อยากเขียนอะไรก็เขียนไว้ ขออภัยที่ข้ามไปมา เพราะเดี๋ยวอาจจะกลับมาเติมใหม่
ปล 2. ใครมีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับห้างฯ นี้ และตลาดไอที ฝากแชร์กันด้วยก็ดีครับ อยากอ่าน
ปล. 3 ทั้งหมดทั้งปวงเป็นความคิดเห็นส่วนตัว โปรดเสพด้วยความระมัดระวังและวิจารณญาณ

เพิ่มเติม: อ้อ .. เคยสัมภาษณ์คุณวันฉัตรครั้งแรกสุด จำได้ว่าตอนนั้นคุยพร้อมกับคุณปรเมศร์ (Sanook) -- สองคนยืนยันว่าไม่ขายกิจการให้ต่างชาติ แต่หลังสัมภาษณ์ รายนึงขายแทบจะทันที ส่วนเว็บนี้ Pantip.com ก็ยังอยู่แบบไทยๆ มาถึงวันนี้ -- และถ้าจำไม่ผิด ห้างXXXX ก็คือ จุดกำเนิดของเว็บ Pantip ที่ตอนแรกกะจะทำขึ้นมาเพื่อขายของไอที แต่ท้ายสุดกลายเป็นเว็บบอร์ด ชุมชนที่ใหญ่และเป็นตำนานแห่งหนึ่งในไทย (อันนี้คือความทรงจำเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ขี้เกียจไปเปิดข้อมูลค้น --- อย่าได้เชื่อครับ รบกวนไปหาตรวจสอบความถูกต้องกันเอง)

เครดิตข่าวโดย: SpringNews
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า