ถอดบทเรียนข่าว “สังหารหมู่”

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า การจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting-สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์” เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน ในการดูแลและจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย โดยข้อสรุปจากการระดมความคิดเห็นในเวทีนี้ จะนำไปประกอบการศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยไม่จำกัดแค่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายหลายฉบับ ยังไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ ในกรณีสถานการณ์วิกฤติอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา ควรมีการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชาการและผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนสนใจ อยากติดตามข่าวสาร แต่เลือกไม่ถูกเพราะมีสื่อหลากหลาย นอกจากนี้ รัฐควรประกาศ ช่องทางชัดเจน เช่น อสมท หรือช่อง 11 เพื่อเป็นช่องหลักในการกระจายข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว โดยช่องอื่นๆมาเอาข้อมูลจากที่นี่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ด้าน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การเสนอข่าวในภาวะวิกฤติ มีทั้งสื่อทีวีและออนไลน์ ดังนั้น กสทช. และดีอีเอส จึงมีส่วนสัมพันธ์กัน เพราะกสทช.ได้รับอำนาจทำให้กำกับดูแลสื่อบนจอทีวีได้ครบ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเกิดบนสื่อออนไลน์ ปรากฏการณ์การส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก

นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ในบทบาทขององค์กรที่มีสมาชิกกว่า 100 ราย ทั้งสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการ มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาจากบทเรียนเหตุการณ์ที่โคราช ดังนี้ 1.สื่อต้องมีวินัย ซึ่งองค์กรสื่อมีกฎบัตรอยู่แล้ว แต่อาจลืมไปเพราะกังวลเรื่องเรตติ้ง 2.วินัยของผู้รับสื่อ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการให้ความรู้คนในสังคม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโมเดลของ “ชัวร์ก่อนแชร์” ให้คนตระหนักว่าควรมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์หรือเชื่อ 3.มีกรอบกติกาชัดเจน 4.รัฐเข้ามาช่วยในเรื่อง Data Resources จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข่าวสาร เพื่อให้เป็นข้อความเดียวกัน และสื่อสารออกมาผ่านทุกช่องทางสื่อทั้งสื่อหลักและออนไลน์ ป้องกันการเกิดความตื่นตระหนกของประชาชน.

เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า