บุคลากรสาธารณสุขติดโควิด-19 เสียชีวิต 3 ราย

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต และผู้ดำเนินการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 51 แต่มีการสูญเสียบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 3 คน ที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำพูน และอสม.จังหวัดพิษณุโลก ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย การสูญเสียของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของประเทศ และเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั่วโลกเกิดการระบาดของโรคการความขาดแคลนอุปกรณ์ และภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อิตาลี มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตมากกว่า 80 คน

“แม้ประเทศไทยจะไม่รุนแรงเท่าหลายประเทศ แต่บุคลากรทางการแพทย์ของเราทำงานอย่างเต็มความสามารถ พวกเขาเหมือนมารบ ยิ่งข้าศึกหรือผู้ป่วยมากเท่าไหร่ บุคลากรทางการแพทย์ก็เสี่ยงไปด้วย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะให้การเยียวยาผู้สูญเสีย และครอบครัวอย่างเต็มความสามารถ กระทรวงฯ ขอขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก ไม่ย่อท้อ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และขอบคุณครอบครัว และคนใกล้ชิดบุคลากรทุกคนที่เปรียบเหมือนลมใต้ปีก สนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขอย่างเต็มที่” นพ.วรตม์ กล่าว และว่า ต้องขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่หมั่นดูแลสุขภาพตัวเอง และยังให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์อย่างเสมอมา

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีรายงานบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 3 รายนั้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะมีโรคประจำตัว และทำงานหนัก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวันนี้ภาระงานควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีมากขึ้นในขณะที่บุคลากรของเรามีจำนวนเท่าเดิม โดยพยายามลดภาระงานอื่นๆ ที่รอได้ ไปก่อนเพื่อลดภารงานหนัก อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับเกลี่ยกำลังคนทำงานให้เหมาะสม กับจำนวนตัวเลขผู้ป่วยด้วย เช่นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยมาก อาจจะต้องเสริมบุคลากรและทรัพยากรเข้าไป

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะเป็นตัวบอกว่ามาตรการที่เราทำอยู่นั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งจากตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่วันนี้อยู่ที่ 51 ราย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่สามารถวางใจได้เพราะยังมีการกระโดดไปกระโดดมา การจะบอกได้ว่าเป็นแนวโน้มดีคือต้องมีตัวเลขต่ำเรื่อยๆ ระดับนี้ ต่อเนื่องกันหลายๆ วัน แต่ตัวเลขคนที่รักษาหายป่วยแล้วนั้นถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องยังเป็น 2 มาตรการสำคัญคือมาตรการการค้นหาผู้ป่วย ผู้สัมผัส เพื่อนำเข้าสู่ระบบให้เร็ว เป็นการตัดวงจรการระบาด อีกมาตรการคือความร่วมมือจากประชาชนในการเว้นระยะห่างทางสังคม ระยะห่างระหว่างบุคคล มีคนถามตนว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่ ตนคงตอบไม่ได้อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ภาครัฐอย่างเดียวคงทำให้จบเร็วไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกัน

เครดิตข่าวโดย: PPTV HD 36
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า