หนุ่มไทยเสียชีวิตรายแรก หมอย้ำชัดไวรัสโควิด-19 แพร่เชื้อได้ แม้ไม่มีอาการ

ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อหนุ่มวัย 35 หนึ่งในผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียชีวิตรายแรกของไทย จากเนื้อปอดเสียหายหนักมาก ย้ำให้เห็นว่าโรคนี้สามารถแพร่ได้ในคนที่ไม่มีอาการเลย หรือมีอาการน้อยได้ และแม้แต่ไม่มีโรคประจำตัวก็มีอาการวิกฤติได้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรรมการให้คำปรึกษา "เชื้อไวรัสโควิด-19" ได้เปิดเผยและเน้นย้ำกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า "เชื้อไวรัสโควิด-19" มีลักษณะเฉพาะ โดยคนคนหนึ่ง สามารถแพร่เชื้อได้ในขณะไม่มีอาการใดๆ เลยให้เห็น จนแทบไม่รู้เลยว่าสามารถแพร่เชื้อได้ เป็นการแพร่เชื้อช่วงระยะฟักตัวก่อนมีอาการ เพราะจากข้อมูลในจีนพบว่า 1-2% ของคนไข้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ไม่มีอาการบ่งบอกใดๆ

นอกจากนี้ยังได้อ้างอิงรายงานของศาสตราจารย์ Linfa wang ชาวสิงคโปร์ ที่เป็นคนรู้เรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่าการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด เพราะหากมีคนติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จึงไม่สามารถตรวจหาเจอเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) เป็นสาเหตุทำให้คนติดเชื้อมีการแพร่เชื้อมากขึ้น และขณะนี้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ของ รพ.จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ Linfa wang ใช้วิธีการตรวจเลือดแบบง่ายๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าใครติดเชื้อไปแล้ว แม้ไม่มีอาการก็ตาม และดูว่าใครได้รับการติดเชื้อมาใหม่ๆ ซึ่งมีโอกาสแพร่เชื้อได้

ถือเป็นความยากในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากธรรมชาติของเชื้อไวรัสตัวนี้ เพราะเชื้อลงไปที่ปอด ถ้าเอาน้ำในจมูกหรือในคอมาตรวจ จะได้ผลลบ ต้องตรวจจากเสมหะที่ไปอยู่ในปอดลึกๆ เท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาผลการตรวจเชื้อไวรัสตัวนี้ทำไม่ได้ 100% อีกอย่างการใช้วิธีให้ได้น้ำล้างจากจมูกและคอไปตรวจ ต้องเอาไม้ล้วงเข้าไปลึกๆ เข้าโพรงจมูกด้านลึก อาจทำให้เจ็บจึงค่อนข้างยากลำบาก และที่ผ่านมาได้ปรากฏมาแล้ว จากการตรวจได้ผลลบปลอม กรณีคนไข้จีนใน รพ.มหาราชเชียงใหม่ จนมาเก็บครั้งที่ 3 ส่องกล้องที่ปอดเพื่อเอาน้ำที่ปอดมาตรวจ กระทั่งพบเชื้อ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่าหากใครมีอาการ การตรวจหาเชื้อครั้งเดียวไม่เพียงพอ จะต้องตรวจซ้ำ โดยเฉพาะผู้คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ ถือเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง ต้องตรวจหาเชื้อเป็นระยะในช่วง 14 วัน

เชื้อไวรัสโควิด-19 หากคน 100 คนติดเชื้อ จะมี 20 คน อาการหนัก หรือหากคน 1 พันคนติดเชื้อมีอาการหนัก เท่ากับว่ามีคนติดเชื้อ 1 หมื่นคน หรือประมาณ 10-20% หากปล่อยให้แพร่เชื้อจนคนติดเชื้อ 1 หมื่นคน ภายในเวลาอันรวดเร็ว ถึงเวลานั้นจะเกิดความวุ่นวายจนโรงพยาบาลแออัด

แม้ไม่สามารณประเมินได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่เฟส 3 หรือไม่ ทาง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุหากคนมีอาการจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชัดเจน 10 คน แสดงว่ามีคนติดเชื้อ 100 คน ซึ่งยังไม่แสดงอาการออกมา จะต้องติดตามให้ครบ 14 วัน

โอกาสจะเกิด "ซุปเปอร์สเปรดเดอร์" (Super-spreader) เป็นไปได้ตลอด เมื่อคนที่รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้จำนวนมาก เช่น อยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน อย่างการระบาดในสิงคโปร์และเกาหลี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานๆ ในพื้นที่จำกัด หรือบางคนที่ติดเชื้อมีความผิดปกติทางปอด หากทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพูด และมีอาการไอ ยิ่งทำให้การแพร่เชื้อมากยิ่งขึ้น

"การจะเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ มีการแพร่เชื้อมากหรือไม่ อยู่ที่พฤติกรรม กิจกรรม และระยะเวลาใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ หากบางคนมีเชื้อแรง ก็ทำให้คนอื่นติดเชื้อต่อ ภายใน 4-5 นาที โดยเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 20-50 องศาฯ เป็นเวลา 9 วัน บนพื้นผิวต่างๆ ดังนั้นอยากเรียกร้องไปยังคนไทย ที่ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ได้รู้ว่าโรคนี้ตรวจจับยากว่าใครเป็นหรือไม่ หากรู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรกักตัวเอง เพราะตัวเองย่อมรู้ตัวเองมากที่สุด จะหวังพึ่งหมอพยาบาลเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เคยกล่าวไว้

เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า