17 ก.ค. 2563
พ่อร้องผู้ว่าฯกทม. หมอรพ.รัฐ ฉีดยาลูกสาว เป็นเจ้าหญิงนิทรา
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 แพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร บอกว่า “จะรับลูกสาวกลับไปเสียชีวิตที่บ้านหรือไม่” เป็นสิ่งที่ทำให้นายพงษ์ศักดิ์ มีศรี พ่อของนางสาวนารดาน มีศรี หรือ น้องรุ้ง ที่ป่วยเป็นโรคประหลาด หมดสติเป็นเจ้าหญิงนิทรา รู้สึกสะเทือนใจมาจนถึงทุกวันนี้
นายพงษ์ศักดิ์ เล่าว่า ลูกสาวเริ่มเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยอาการปวดท้อง ตอนแรกจะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่เนื่องจากประกันขาด ทางโรงพยาบาลเลยทำหนังสือส่งตัวให้ไปโรงพยาบาลรัฐ เมื่อไปถึง แพทย์ได้ฉีดยาให้ 1 เข็ม และให้น้ำสีเขียวคล้ายน้ำหวานดื่ม ก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน ต่อมาช่วงเช้า ลูกสาวยังคงมีอาการปกติอยู่ โดยยังออกไปจ่ายเงินค่าสมัครสอบมหาวิทยาลัยที่ร้านสะดวกซื้อ แต่หลังจากกลับมาเริ่มมีอาการลิ้นแข็ง พูดไม่เป็นคำ และตัวสั่น ญาติจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลเดิม ซึ่งได้ฉีดยาให้อีก 1 เข็ม ให้น้ำเกลือ โดยให้นอนโรงพยาบาล ประมาณ 16.00 น. ราว 5 นาที หลังจากให้น้ำเกลือ น้องรุ้งเริ่มมีอาการชักและหมดสติไป แต่กว่าจะได้เข้าห้องไอซียูก็เป็นเวลาตีหนึ่งของวันรุ่งขึ้น
โดยเวลานั้นตนเองไม่ได้รับคำอธิบายใด ๆ จากแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาว จึงได้แต่เฝ้ารอที่หน้าห้องไอซียู กว่าจะได้เข้าเยี่ยมก็เป็นเวลาประมาณ 8 โมงเช้า แพทย์วินิจฉัยว่าน่าจะเป็นโรค SLE หรือโรคพุ่มพวง พร้อมบอกกับตนเองว่า “จะรับลูกสาวกลับไปเสียชีวิตที่บ้านหรือไม่” โดยที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุของโรคได้ 3 วันต่อมา แพทย์เสนอให้ส่งตัวลูกสาวไปรักษาโรงพยาบาลที่พร้อมกว่า เพราะหากรักษาต่อที่โรงพยาบาลเดิมจะไม่มีโอกาสรอด โชคดีที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รับเข้ารักษา โดยบอกว่าจะขอเคสนี้เป็นกรณีตัวอย่างสอนนักศึกษาแพทย์ เพราะเป็นอาการป่วยที่ไม่เคยพบ โดยแพทย์ รพ.จุฬาฯ ไม่ยืนยันว่า ลูกสาวป่วยเป็นโรคอะไร แต่รักษาตามอาการ น้องรุ้งอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลจุฬาฯ 2 สัปดาห์ ก่อนจะรู้สึกตัว ลืมตาได้ และออกมารักษาในห้องผู้ป่วยรวมต่ออีก 5 วันจนเริ่มขยับร่างกายส่วนบนได้ จึงกลับมารักษาตัวที่บ้าน โดยยังเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ขยับร่างกายท่อนล่างไม่ได้ และต้องทำกายภาพบำบัดทุกวัน
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนเองรู้สึกคาใจกับการรักษาของโรงพยาบาลรัฐที่ฉีดยาให้น้องรุ้งก่อนหมดสติไปว่ามีการรักษาผิดพลาดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาน้องรุ้งเป็นเด็กสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เคยนอนโรงพยาบาลมาก่อน ประกอบกับแพทย์ที่รักษาด่วนสรุปว่าลูกสาวจะไม่รอดและใช้คำพูดไม่เหมาะสม ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่เคยเข้ามาเยียวยาหรือให้ความกระจ่างเรื่องนี้ ตนเองจึงเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ตรวจสอบ โดยขอให้โรงพยาบาลออกมารับผิดชอบและชี้แจงว่าอาการป่วยของน้องรุ้งเกิดจากความผิดพลาดในการรักษาหรือเกิดจากตัวน้องเอง ซึ่งนายธนากร สงวนสัตย์ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม.ได้รับเรื่องพร้อมบอกว่าจะทำหนังสือไปที่โรงพยาบาลให้ทำหนังสือชี้แจงมาภายใน 15 วัน
เครดิตข่าวโดย: PPTV HD 36