91,426 ขรก.เฮ ได้เยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ชี้ยึดตามมติครม.

91,426 ขรก.เฮ ได้เยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ชี้ยึดตามมติครม. ปลัดเกษตรฯ สั่งตรวจเช็กความซ้ำซ้อน ยันล็อตแรก 15 พ.ค.พร้อมจ่าย

วันที่ 14 พ.ค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า

ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อมูลสรุปว่า เกษตรกรที่มีทะเบียนและเข้าเกณฑ์การได้รับได้รับเงินเยียวยาตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือนนั้น มีจำนวนเท่าไหร่ เพราะล่าสุดมีข่าวว่ามีคนผ่านสิทธิ 6.77 ล้านคนนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าผ่านสิทธิ 6.77 ล้านคน แสดงว่ามีคนไม่ได้รับสิทธิ มีความซ้ำซ้อน 1.56 ล้านราย ยิ่งไม่น่าจะใช่

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า หลังจากสศก.เสนอรายชื่อทะเบียนเกษตรกร 8.3 ล้านราย ให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อเช็กทะเบียนเกษตรกรว่ามีความซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกันหรือไม่ และเช็กว่าซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการบำนาญหรือไม่ พบว่ามีความซ้ำซ้อนจำนวนหนึ่ง และนำข้อมูลเดียวกันคือ ทะเบียนเกษตรกร 8.3 ล้านรายให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อเช็กว่าเกษตรกรตามทะเบียนของกระทรวงเกษตร อยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าความซ้ำซ้อนทั้ง 3 จะเป็นบุคคลคนเดียวกันบ้าง

“การเช็กความซ้ำซ้อนทั้ง 3 เรื่อง การเป็นข้าราชการบำนาญ อยู่ในระบบประกันสังคม และได้รับเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเช็กความซ้ำซ้อนตามมติครม. เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 โดยในคำสั่งครม.ไม่ได้ระบุว่า ข้าราชการที่ทำการเกษตรจะไม่ได้รับเงินเยียวยา ดังนั้นการทำงานจึงยึดหลักตามคำสั่งครม. หากจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือให้ครม.ทบทวนสิทธิ หรือเพิ่มเงื่อนไข กติกาใหม่เข้ามา ต้องเสนอครม.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน และหน่วยงานที่จะเสนอพิจารณาเงื่อนไข”

นายอนันต์ กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาในรอบแรก ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เชื่อว่าไม่มีปัญหา คงยังจ่ายได้ และทยอยจ่ายตามศักยภาพของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ลงทเบียนสามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นวันสุดท้าย และกลุ่มที่ยังไม่ปลูกพืช เพราะประสบภัยแล้ง ต้องนำหลักฐานเอกสาร ไปยื่นขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดในวันที่ 15 พ.ค.นี้เช่นกัน หลังจากนั้นรอเพียงการเพาะปลูกพืชเพื่อให้เติบโตครบ 15 วัน กลุ่มนี้ก็จะมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทะเบียนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการมีทั้งสิ้น 91,426 ราย

เครดิตข่าวโดย: khaosod
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า