วิกฤต “น้ำโขงเปลี่ยนสี” กระทบระบบนิเวศพัง

กลุ่มรักษ์เชียงของผนึกสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำ จ.เชียงราย เผยวิกฤตแม่น้ำโขง “เปลี่ยนสีใสขึ้น” กระทบระบบนิเวศหนัก เหตุจากการสร้างเขื่อนของจีน ส่งผลให้เกิดความผันผวนของแม่น้ำโขง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว จ.เชียงราย ติดต่อกับแขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว พบว่าระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการชัดเจนมากที่สุด คือช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 พบว่าน้ำในแม่น้ำโขงมีลักษณะใสมองเห็นท้องน้ำอย่างชัดเจน และเมื่อมองจากที่สูงในตอนกลางวันเห็นเป็นสีเขียวคราม ดังนั้นจึงคาดว่าเหตุการณ์น้ำโขงใสน่าจะมีสาเหตุจากตะกอนถูกกักเก็บในแม่น้ำโขงเขื่อนตอนบน ในมณฑลยูนนานนับ 11 เขื่อนเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี นอกจากนี้ในฤดูฝนปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่ได้เพิ่มสูงตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำท่วมหลากสองฝั่งตลิ่ง ลำน้ำสาขา และพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ตะกอนแร่ธาตุตามริมฝั่งไม่ได้ถูกพัดพาตามระบบธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังพบว่า ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง มีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด โดยปกติตามธรรมชาติแล้ว ไกจะเกิดตามหาดหินและเกาะแก่งในช่วงฤดูแล้ง เมื่อแม่น้ำโขงใสสะอาด ไกจะขึ้นเป็นเส้นยาว ในอดีตนั้นชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงทั้งฝั่งไทยและลาว ต่างพากันมาเก็บไกนำไปขายสด และแปรรูป สร้างรายได้เป็นอย่างมากในช่วง 3 เดือนของฤดูแล้ง แต่จากการสำรวจในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ไกที่เกิดในแม่น้ำโขงมีลักษณะไม่สมบูรณ์ ออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ไม่ยาวเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา

“ผู้สูงอายุหลายราย อาทิ นายรุณ คนขับเรือโดยสารในแม่น้ำโขง วัย 86 ปี บอกตรงกันว่า เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำโขงใสขนาดนี้ และเพิ่งเกิดขึ้นที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการลงพื้นที่หาดหินในแม่น้ำโขง ได้พูดคุยกับคนเก็บไก ที่ขับเรือมาจากบ้านดอน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต่างก็พูดตรงกันว่า ปีนี้ไกมีลักษณะแปลกไปจากทุกปี นอกจากมีเส้นสั้น ผิดจากธรรมชาติที่เคยเกิด ยังเป็นกระจุก แล้วยังมีสีสนิม ไม่สะอาด ถือว่าผิดปกติมาก อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน คาดว่าโดยธรรมชาติแล้ว แร่ธาตุอาหารของไก คือ ตะกอนที่พัดมาตามน้ำหลาก และตกอยู่ตามแก่งหิน ตามท้องน้ำ และหาดหินต่าง ๆ แต่ในปีที่ผ่านมา ในช่วงฤดูฝนกลับไม่มีน้ำหลากตามธรรมชาติ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไกไม่สมบูรณ์” นายนิวัฒน์กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวต่อไปว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เขื่อนทางตอนบนในจีน และเขื่อนตอนล่าง จะต้องใช้งานโดยคำนึงถึงระดับน้ำตามฤดูกาลของแม่น้ำโขง ต้องระบายน้ำให้เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งวงจรน้ำขึ้น-น้ำลงในรอบปี เป็นปัจจัยสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ที่เอื้อให้เกิดการหลากของตะกอนแร่ธาตุที่พัดไปกับแม่น้ำ เป็นอาหารของปลา เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลต่อพืชพรรณต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมตลอดลุ่มน้ำ ลงไปถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เวียดนาม

ด้านนายจีระศักดิ์ อินทะยศผู้ประสานงานสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ กล่าวว่า นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงปีเดียว และที่น่าเป็นห่วง คือ สิ่งนี้อาจจะซ้ำเติมผลกระทบต่อนิเวศ และชุมชนริมสายน้ำโขงทางภาคอีสาน ที่อยู่ท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาว ทั้งนี้ จากการสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย ครั้งล่าสุดพบว่า ต้นไคร้หางนาค ที่เป็นพืชท้องถิ่นขึ้นอยู่บนแก่งหินตลอด 2 ฝั่ง และบนเกาะกลางแม่น้ำโขง ได้ตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวิกฤตของต้นไคร้หางนาค ที่โดยปกติแล้วจะผลิใบงอกงามในฤดูแล้งเมื่อแม่น้ำโขงลดระดับลง ซึ่งสาเหตุที่ตายกันมากในเวลานี้ เนื่องจากความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทั้ง ๆ ที่ต้นไคร้หางนาคนี้คือ อาหารที่สำคัญของปลาแม่น้ำโขงที่อพยพมาในฤดูน้ำหลาก

“ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง มาจากหิมะละลายในเขตทิเบต เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย น้ำในแม่น้ำโขงตอนบน ที่พรมแดนไทย สปป.ลาว เมียนมา และบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะที่ต้นน้ำแทบจะ 100% โดยเฉพาะในฤดูแล้ง แต่เมื่อมีเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 11 เขื่อน สร้างกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ทำให้ท้ายน้ำเกิดผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งแม่น้ำโขงแถบนี้ ในปีนี้ เดือนนี้ เราพบว่าน้ำใสที่สุดในรอบชีวิตของคนลูกน้ำโขงที่เกิดมาพบเจอ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานว่า พบแม่น้ำโขงมีสีครามตรงบริเวณภาคอีสาน ซึ่งอยู่ท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่ปลายปี 2562” นายจีระศักดิ์กล่าว

ผู้ประสานงานสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ให้ยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่อยู่ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่มีมาตั้งแต่ปี 2543 อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังมีความเห็นว่า เป็นภัยคุกคามต่อแม่น้ำโขง ยังคงต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะผลกระทบจากเขื่อนทั้งในจีนและใน สปป.ลาวดังกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559-2562) มีการฟื้นโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงอีกครั้ง โดยให้บริษัทที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาทำการสำรวจและออกแบบตลอดลำน้ำบริเวณพรมแดนนั้น กลุ่มอนุรักษ์และเครือข่ายชุมชนใน จ.เชียงราย ได้พบและให้ข้อมูลแก่หลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และความมั่นคง

เครดิตข่าวโดย: ประชาชาติ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า