ทางหลวง สั่งแก้ด่วนศาลาเจ้าปัญหา สร้างแล้ว 114 แห่ง จาก 449 แห่ง

ทางหลวง สั่งแก้ด่วนศาลาเจ้าปัญหา สร้างไปแล้ว 114 แห่ง จาก 449 แห่ง ชี้การปรับปรุงต้องยึดความต้องการ-ลักษณะช้งานของชุมชนเป็นหลัก

วันที่ 18 มิ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สั่งการให้กรมทางหลวงสำรวจศาลาริมถนนหลวงทั่วประเทศ หลังจากมีรายงานชาวบ้านไม่ใช้ เพราะออกแบบไม่เหมาะสม โดยเน้นย้ำให้รีบแก้ไขโดยด่วน ให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน ชุมชนแต่ละพื้นที่ ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ สามารถใช้หลบแดดหลบฝนระหว่างรอรถโดยสาร และให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และผู้ใช้รถด้วย

หลังจากมีการแชร์ข้อมูลปัญหาการก่อสร้าง ศาลารอรถโดยสารที่อยู่ริมถนนหลวงในจ.ศรีสะเกษ และจ.ชุมพร และที่อื่นๆ ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่ออกมาแสดงความเห็นว่าทั้งการออกแบบและลักษณะการก่อสร้างไม่เหมาะสม จนถึงขั้นไม่สามารถใช้งานได้จริง

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้ให้กรมทางหลวงไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทั่วประเทศโดยด่วน ล่าสุดสั่งการให้สำนักงานทางหลวง และแขวงทางหลวง ไปสำรวจตรวจสอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานก่อสร้าง ศาลารอรถโดยสารริมถนนหลวงทั่วประเทศ และรีบปรับปรุงแก้ไข โดยการแก้ไขนั้น ให้ลงไปสอบถามความต้องการของประชาชน ชุมชนในพื้นที่ โดยการปรับปรุงต้องยึดความต้องการและลักษณะการใช้งานของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้ใช้งานจริงของศาลารอรถโดยสารเหล่านี้

นอกจากนี้สำหรับงานก่อสร้างถนนทางหลวงสายใหม่ หรือการปรับปรุงทางหลวงสายต่างๆ ของทุกโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต ก็ให้ยึดแนวปฏิบัติเดียวกัน ในการก่อสร้างศาลารอรถโดยสารในทุกพื้นที่ ที่ต้องอยู่บนพื้นฐานสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเช่นเดียวกัน

สำหรับข้อมูลแบบก่อสร้างจุดรอพักขึ้นรถโดยสาร (Bus Stop) นี้ มีแบบมาตรฐาน ที่ออกแบบขึ้นใน พ.ศ. 2537 และ 2558 โดยแบบมาตรฐานปี 2537 มีทั้งหมด 6 รูปแบบ คือ รูปแบบ A และ B เป็นแบบศาลาทางหลวงที่มีความลึกของชายหลังคา 6.25 เมตร

รูปแบบ C และ D คือรูปแบบศาลาทางหลวงที่มีความลึกของชายหลังคา 8 เมตร โดยจะแตกต่างกันที่ลักษณะโครงสร้าง

รูปแบบ E และ F จะเป็นรูปแบบกรณีมีพื้นที่จำกัดซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงทำด้วยโครงสร้างเหล็กและไม้ หลังคากระเบื้อง ความลึกของฐานจุดรอพักจะมีความลึกที่ 2.50 และ 3.25 เมตร ตามลำดับ

ส่วนแบบมาตรฐานปี 2558 มีทั้งหมด 5 รูปแบบ คือ รูปแบบ A และ B เป็น รูปแบบศาลาทางหลวงที่มีความลึกของชายหลังคา 6.25 เมตร ,รูปแบบ C และ D คือรูปแบบศาลาทางหลวงที่มีความลึกของชายหลังคา 8.00 เมตร โดยจะแตกต่างกันที่ลักษณะโครงสร้าง และรูปแบบ E จะเป็นรูปแบบกรณีมีพื้นที่จำกัด ก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กหุ้มด้วยแผ่นอลูมิเนียม หลังคา Metal Sheet มีความลึกอยู่ที่ 2.50 เมตร

การพิจารณาการเลือกจุดรอพักขึ้นรถโดยสาร รูปแบบต่างๆ ได้พิจารณาในด้านวิศวกรรมความปลอดภัย ตำแหน่งการในการก่อสร้าง ต้องมีระยะปลอดภัยจากช่องจราจรอย่างน้อย 2.50 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และยังต้องคำนึงถึงประเด็นต้องไม่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่และระยะมองเห็นที่ปลอดภัย

อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า แบบศาลารอรถโดยสารที่มีปัญหา คือแบบ E ขณะนี้ทั่วประเทศมีการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 114 จุด จากแผนงานที่จะมีการก่อสร้าง 449 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจะรีบดำเนินการแก้ไข และพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เหมาะสม ประชาขนใช้ประโยชน์ได้จริงโดยด่วน

เครดิตข่าวโดย: khaosod
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า