20 พ.ค. 2563
คู่รักไรเดอร์ รายได้เดือนกว่า 5 หมื่น แนะเทคนิคเก็บเงิน 2 ปีซื้อบ้านเกือบ 4 แสน
ผลของการ "อดทน" "อดออม" คือสิ่งที่ต้องการ คู่รักไรเดอร์ตัวอย่าง ส่งอาหารเดลิเวอรี่เก็บเล็กผสมน้อยจนมีเงินซื้อบ้านน็อกดาวน์ราคาเกือบ 4 แสน ภายในเวลา 2 ปี
ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน และหากมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ไม่ว่าจะอาชีพใด ผลของความพยายามบวกกับความมุ่งมั่นมักประสบความสำเร็จเสมอ ดังเรื่องราวชีวิตของคู่รักไรเดอร์ ส่งอาหารเดลิเวอรี่ “ขวัญ” พิมพ์มาดา สุวรรณพินิจ และ “แดส” พลเทพ ศาตร์เสงี่ยม
“ทุกครั้งที่มองบ้าน ทุกๆ วัน รู้สึกว่า เฮ้ย นี่เราทำได้จริงๆ หรือ มันไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ แต่ก่อนเป็นคนเกเร ใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่จริงจังกับชีวิต พอวันนี้ทำได้จริง รู้สึกภูมิใจมากๆ ถึงอยากแชร์เรื่องราวตัวเองให้ทุกคนว่า คุณก็ทำได้นะ อยู่ที่ว่าตั้งใจจริงๆ หรือเปล่า” ขวัญ เปิดใจเล่าความรู้สึกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ไรเดอร์ ขอความเห็นใจ อาหารถึงมือไว โปรดอย่า “ปักหมุดผิด”
กว่าจะมีบ้านสมปรารถนาเช่นวันนี้ได้ ขวัญและแดส ขยัน อดทน และมุ่งมั่นช่วยกันเก็บหอมรอมริบเงินจากการขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเดลิเวอรี่เกือบ 2 ปี แม้จะเจออุปสรรคมากมายระหว่างทำงาน แต่ทั้งสองก็ไม่เคยย่อท้อ เพราะขวัญมองว่าทุกอาชีพย่อมยากลำบากแตกต่างกัน
อาชีพไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ เธอเองก็เจออุปสรรคการทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ลูกค้าเรียกใช้บริการผ่านแอปให้ไปส่งอาหารในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พร้อมปักหมุดเส้นทาง แต่เมื่อไปถึงที่ปักหมุดไว้ พบว่ามีการปักหมุดคลาดเคลื่อนตำแหน่งไปหลายกิโลฯ ส่งผลให้ลูกค้าได้รับอาหารช้า
“บางเส้นทางไปถึงตามที่ลูกค้าปักหมุด แต่ไม่เจอ ก็ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปอีกหลายกิโลฯ เพื่อให้ลูกค้าได้รับของ บางจุดมอเตอร์ไซค์เข้าไม่ได้ ต้องขี่อ้อมไปอีกทาง หรือต้องจอดรถแล้วเดินเข้าไปส่งอาหาร การทำงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ ต้องใจเย็นๆ อากาศร้อนก็อย่าร้อนตามไปด้วย เพราะหากลูกค้าไม่พอใจก็จะให้ดาวน้อย พอเรตติ้งตกก็จะมีผลกับการรับงานที่น้อยลงด้วย”
งานสุดหิน ชีวิตสุดเสี่ยง เพื่อเงิน 70 บาท วิ่งวนกว่า 20 กม.
กว่าจะได้เงินในแต่ละรอบการส่งของ ไม่เคยมีสักครั้งที่ไม่มีอุปสรรค จากประสบการณ์ของขวัญ บางเส้นทาง บางพื้นที่ไม่เคยไป ไม่เคยรู้จัก ต้องใช้ GPS นำทาง บางครั้งก็พาไปเจอทางตัน มีการก่อสร้าง ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องเปิด GPS ใหม่เพื่อหาเส้นทางอื่น บางงานต้องรออาหารหรือเครื่องดื่มนาน 40 นาที เพื่อให้ได้เงิน 40 บาท บางครั้งโดนลูกค้าเทงานก็ต้องติดต่อเคลมกับบริษัท หรือต้องกินเอง
เธอเองเคยเจองานสุดโหดและหินจนถึงขั้นคิดถอดใจ กับระยะทางจากร้านอาหารและบ้านลูกค้า ทั้งสิ้น 7 กิโลฯ กลับต้องวิ่งวนกว่า 20 กม. เพื่อให้ได้เงินค่าบริการ 70 บาท ขวัญย้อนเล่าเหตุการณ์ที่จำได้ไม่เคยลืมว่า ตอนนั้นเป็นเวลา 6 โมงเย็น เริ่มพลบค่ำแล้ว อีกแค่เพียง 1 กม.จะถึงบ้านลูกค้า แต่ รปภ.หมู่บ้านไม่ให้เข้าประตูฝั่งนี้ ให้อ้อมไปอีกทาง
เส้นทางใหม่นี้สองข้างทางเป็นป่า และเปลี่ยว ถนนเป็นทางลูกรัง เวลาก็มืดไปเรื่อยๆ เธอขับวนอยู่นานหลายกิโลฯ พอไปไม่ถูกก็ถามคนข้างทาง จึงตัดสินใจ โทรหาลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ายกเลิกบริการ เธอตัดสินใจยอมเสียเงินค่าอาหารเอง 200 กว่าบาท เพราะรู้สึกว่ายิ่งมืดยิ่งไม่ปลอดภัย แต่สุดท้ายเธอก็พยายามส่งอาหารให้ลูกค้าได้สำเร็จ
“เป็นงานหินที่สุด เกือบเอาไม่อยู่ เสียเวลาไปหลายชั่วโมง จาก 6 โมงเย็น กว่าจะถึงบ้านสามทุ่มกว่า พูดได้เลยว่าเข็ด ขวัญก็มาปรับการทำงานใหม่ หากงานไหนคิดว่าจะจบเกินสองทุ่มก็จะไม่รับงานเลย”
รอดปาฏิหาริย์ สายพานขาดกลางถนน โค้ง 100 ศพ รัชดาฯ
ชีวิตของไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ ขวัญบอกว่า ใครๆ ก็มีสิทธิ์มาทำได้ แต่คนที่จะมาทำต้องมีความอดทน และต้องอึด บางคนมองว่าเงินดี แต่กว่าจะได้มาไม่ง่ายสักนิด ต้องอดทนสู้กับความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผา บางครั้งต้องยืนรอหน้าบ้านลูกค้าท่ามกลางแดดเปรี้ยงเป็นชั่วโมงเพื่อส่งอาหาร
ฝนตกแม้จะได้ค่ารอบสูง แต่มีความเสี่ยงสูงในการทำงานเช่นกัน ล่าสุด 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ฝนตกหนัก น้ำท่วมถนน เธอขี่รถมอเตอร์ไซค์ลุยน้ำ กระทั่งรถดับกลางถนน สตาร์ตไม่ติด เดินเข็นรถลุยน้ำสูงเกือบน่อง ต้องแก้สถานการณ์ด้วยการโทรแจ้งลูกค้าทันที จากนั้นโทรตามเพื่อน ให้แฟนมาช่วยส่งอาหารแทน เพราะไม่อยากให้ลูกค้ารอนาน ครั้งหนึ่งเธอรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์จากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดระหว่างการขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อส่งอาหารให้ลูกค้า ขวัญเล่าวินาทีเฉียดตายว่า
“ขี่มอเตอร์ไซค์ลงอุโมงค์รัชดาฯ พอโผล่ขึ้น ขับไปเรื่อยๆ สักพักสายพานขาดกระเด็น รถแกว่งไปมา เกือบเอาไม่อยู่ ตรงโค้ง 100 ศพ ดีที่ไม่ล้ม มีแต่คนตกใจว่ารอดมาได้ไง เพราะสายพานขาดค่อนข้างอันตรายมาก”
ไรเดอร์เดลิเวอรี่รับโชค 2 เด้ง มิตรภาพที่ดีจากลูกค้า
แม้ชีวิตของไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่จะอยู่กับความเสี่ยงทุกขณะ แต่ก็มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ขวัญบอกเล่าจากประสบการณ์ว่า อาชีพนี้ตอบโจทย์ทุกอย่างให้กับเธอ มีความอิสระเพราะเป็นคนไม่ชอบมีกฎมีเกณฑ์ สามารถจัดสรรเวลาได้ว่าจะออกไปขี่กี่โมงถึงกี่โมง รู้สึกไม่จำเจ และสนุกที่ได้เจอคนมากมาย สิ่งสำคัญคือได้มีเวลาดูแลลูกและพ่อที่ป่วยอัมพฤกษ์
เธอบอกเล่าความประทับใจที่ได้รับจากลูกค้าว่า ล่าสุด 2-3 วันที่ผ่านมา นำอาหารจากแถวหมู่บ้านประชานิเวศน์ 3 ราคาทั้งหมด 470 ไปให้ลูกค้าใกล้ๆ วัดบัวขวัญ จ.นนทบุรี ลูกค้ายื่นเงินให้ 500 บาท บอกไม่ต้องทอน และให้รอแป๊บนึง จากนั้นลูกค้าเดินกลับเข้าบ้าน สักครู่เดินออกมาพร้อมยื่นถุงกระดาษใบใหญ่ให้เธอ ซึ่งในถุงมีสิ่งของมากมายหลายชิ้น ทั้งขนม เจลล้างมือ
“รู้สึกประทับใจทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน เป็นมิตรสัมพันธ์ที่ดี ลูกค้าบางคนให้ทิปหน้างานแล้วก็ให้ทิปผ่านแอปด้วย ทิป บาท สองบาท ขวัญประทับใจหมด ยกมือขอบคุณทุกคน เพราะรู้สึกว่าเขาเต็มใจให้ เขาพอใจในการบริการของเรา เงินตรงนี้แหละขวัญเก็บสะสมมาตลอดเพื่อซื้อบ้าน จริงๆ ถึงลูกค้าไม่ให้ทิป ขวัญก็โอเคนะ เพราะแค่รอยยิ้มจากลูกค้าก็ประทับใจแล้วสำหรับขวัญ”
คู่รักไรเดอร์ รายได้เดือนกว่า 5 หมื่น แนะเทคนิคเก็บเงินซื้อบ้าน
เงินที่ขวัญและแฟนสะสมภายใน 2 ปี จนสามารถซื้อบ้านน็อกดาวน์รวมราคาทั้งหมดเกือบ 3 แสนบาทได้สำเร็จสมความตั้งใจ ขวัญบอกว่าเป็นเงินน้ำพักน้ำแรงจากการช่วยกันขี่ไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ทั้งหมดที่เกิดจาก “การวางแผนเป้าหมาย”
จากเดิมเธอเป็นเด็กเกเร ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่นึกถึงอนาคต หลังต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คิดทำเพื่อลูก มีการวางแผนชีวิตค่อนข้างเยอะ และตั้งเป้าหมายเรื่อง “บ้าน” จึงให้ “แดส” ออกจากงานมาช่วยกันขับรถส่งอาหารเดลิเวอรี่ โดย “แดส” แฟนของเธอทำงานทุกวัน รายได้ต่ำๆ วันละ 1 พันบาท รวมแล้วเดือนละ 3 หมื่นกว่า ส่วนเธอ รายได้ 2-3 หมื่น เพราะไม่ได้ขี่ส่งอาหารทุกวัน ต้องดูแลลูกและพ่อที่ป่วยอัมพฤกษ์ จะออกวิ่งส่งอาหารเดลิเวอรี่ในบางเวลา นอกจากนี้ยังรับวิ่งส่งเค้กให้เพื่อนด้วย
รายได้จากการวิ่งไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ นอกจากค่ารอบวิ่งงานที่คิดตามกิโลฯ ซึ่งยิ่งวิ่งงานมากยิ่งได้เงินเยอะแล้ว ยังมีรายได้พิเศษเพิ่มจากการวิ่งงานให้ครบตามจำนวนและเวลาที่บริษัทกำหนด เพื่อเก็บสะสมแต้มหรือที่เรียกว่าเก็บเพชรในแต่ละวันด้วย
เทคนิคเก็บเงินซื้อบ้านได้สำเร็จ นอกจากความมุ่งมั่นที่ทั้งคู่มักจะกระตุ้นและพูดบอกกันเสมอว่า “ต้องทำให้ได้” รวมถึงการตั้งเป้าหมายแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ “เทคนิคการบริหารเงินและการเก็บเงิน” ซึ่งขวัญยึดปฏิบัติด้วยวิธีแบ่งเก็บให้มาก โดยไม่นำมาใช้ แล้วค่อยแบ่งใช้ในทุกๆ 10 วัน อย่างประหยัด ไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย
“ขวัญเคยส่งอาหารตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ได้ทั้งหมด 25 งาน กลับบ้านหมดแรง เหนื่อยมาก วันนั้นได้ทั้งหมด 2 พัน ขวัญเป็นคนคิดวางแผนกับแฟน ตั้งแต่ตื่นกี่โมง ออกวิ่งงานจุดไหน ตอนไหนได้เงินดี ได้รอบเยอะ ได้งานกี่ตัวจึงจะเก็บเพชรได้ จริงๆ คนเราถ้ามีการวางอนาคต มีเป้าหมายในชีวิต ยังไงก็ทำสำเร็จ อย่างขวัญได้เงินมา 10,000 จะแบ่งเก็บไว้ 7,000 แบ่งมาใช้ 3,000 ให้ได้ 10 วัน ใช้อย่างประหยัด แต่ไม่ได้อดอยากนะ ทุกเดือนขวัญกับแฟนจะไปกินบุฟเฟต์กันบ้าง เพื่อให้รางวัลที่ทำงานมาเหนื่อยกันทั้งคู่”
ไรเดอร์ถูกใจ ข้อดีโควิด-19 ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) คนตกงาน ว่างงานกันมาก และหันมาขี่ไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่กันมากขึ้น ขวัญบอกว่า ทำให้รายได้จากเดิมอย่างน้อยๆ วันละ 1,500 บาท กลับกลายว่าบางคน 3 ทุ่ม ยังได้ไม่กี่ร้อยหรือไม่ถึงพัน
การระบาดโควิด-19 นั้นก็มีข้อดี ขวัญเผยว่า ทำงานเหนื่อยน้อยกว่าตอนไม่มีโควิดระบาด เนื่องจากทุกร้านในห้างสรรพสินค้ามารอรับออเดอร์ในจุดเดียวกัน ส่วนไรเดอร์ก็รอรับอาหารในจุดเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องไปเดินหาร้าน เพราะบางร้าน ห้างกว้างหายาก หรือไม่เคยไป
สิ้นปีนี้ “ขวัญ” ได้งานประจำเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเดลิเวอรี่เหมือนทุกวันเช่นเคย แต่หากวันเสาร์-อาทิตย์ว่างก็จะมาทำเหมือนเดิม เธอย้ำทิ้งท้ายว่า เทคนิคออมเงินคือ ต้องตั้งเป้าหมาย ตอนนี้เงินเก็บของทั้งคู่หมดแล้ว เป้าหมายการออมเงินต่อไปคือ เก็บเงินซื้อของเข้าบ้านใหม่ เช่น ที่นอน แอร์ฯ และมีลูกอีกคน
“ไม่เคยคิดว่าแค่ขับรถส่งอาหาร 2 ปี ช่วยกันเก็บเงินจนได้บ้านน้อยหลังนี้ ภูมิใจมากๆ เพราะเป็นสมบัติชิ้นแรกที่เราเก็บเงินกันเองด้วย ผลของการอดออมคือสิ่งที่ต้องการ ลำบากขับส่งอาหาร เจอทั้งแดด ฝน รถเสียกลางทาง รถยางแตก บางครั้งโดนลูกค้าเท แต่มันคือสิ่งที่เราตั้งใจทำ ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ไม่สำคัญ อยู่ที่รู้จักเก็บ รู้จักจัดการ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ขอแค่ใจสู้” ขวัญกล่าวทิ้งท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ