ห่ากินเมือง จากยุคอหิวาต์สู่ยุคโควิด-19 กับความเชื่อที่ไม่เคยขาดหาย สะท้อนความไม่มั่นคงของรัฐ

สังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อ ไม่ว่าจะในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบัน เรามักจะเห็นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อใดที่สังคมเกิดเหตุการณ์หรือเกิดวิกฤตการณ์สำคัญๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม เราก็จะเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อปรากฏขึ้นควบคู่กับเหตุการณ์เหล่านั้น



ไม่ว่าจะเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ถ้ำหลวงเมื่อหลายปีก่อน หรือแม้แต่หลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ก็ปรากฏคำอธิบายลักษณะของห้างจากเหล่าหมอดูหลายสำนักที่กล่าวถึงเรื่องกล่าวอาถรรพ์ต่างๆ โดยเฉพาะลักษณะตัวอาคารที่ไม่ค่อยเป็นมงคลหรือมีลักษณะคล้ายเมรุ ฯลฯ



เช่นกันเมื่อเกิดโรคระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความมั่นคงในชีวิต จึงทำให้เห็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อเกิดขึ้นตามมามากมายด้วย



ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดในสังคมไทยนั้น เราพบว่า ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ปรากฏควบคู่กับการเกิดโรคระบาดมาโดยตลอด ทั้งก่อนและหลังการเข้ามาของแนวคิดการแพทย์สมัยใหม่ของสังคมไทยในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน



ในบันทึกของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้บันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดการระบาดของอหิวาตกโรคในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งในยุคนั้นมักจะเรียกว่า โรคห่า ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคำว่า ‘โรคห่า’ ไม่ได้หมายถึงอหิวาตกโรคเท่านั้น คำว่า ‘ห่ากินเมือง’ หรือ ‘โรคห่า’ นั้นหมายถึงการเกิดโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนล้มป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงมาเป็นโรคประเภทใด



ในบันทึกกล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 2 อหิวาตกโรคได้ระบาดขึ้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2363 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งแรก โดยระบาดมากอยู่ราว 2 สัปดาห์ จนทำให้ผู้คนล้มตายกันจนเผาไม่ทัน ศพที่ป่าช้าตามวัดสระเกศ วัดบางลาภ วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน จนกลายเป็นตำนาน ‘แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์’



ในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีที่เรียกกันว่า ‘พิธีอาพาธพินาศ’ ขึ้นในวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้น 11 ค่ำ ให้ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนยันรุ่ง แล้วอันเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประพรมน้ำมนต์พระปริตทั้งทางบกทางเรือ



ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีล ทรงห้ามไม่ให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน เข้าเฝ้า ให้งดกิจราชการเสีย และให้ตั้งใจทำบุญสวดมนต์ให้ทาน



ทางการสั่งให้ประชาชนรักษาศีลอยู่แต่ในบ้าน ผลปรากฏว่า การที่ประชาชนไม่ออกจากบ้าน การระบาดของเชื้อจึงลดลง ซึ่งเอาเข้าจริงก็คงไม่ต่างจากการที่รัฐในปัจจุบันออกข้อบังคับให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาดกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องของการกระจายเชื้อสำหรับผู้ติดเชื้อ หรือลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากพื้นที่ภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นรัฐใช้หลักการทางพุทธศาสนาเป็นมาตรการช่วยในการกักตัวผู้คนในอาณาจักรได้เป็นอย่างดี



ภายหลังจากเกิดโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังปรากฏการระบาดของโรคอีกหลายรอบในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยโรคระบาดที่สำคัญๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ และกาฬโรค ซึ่งเป็น 3 โรค ที่ทำให้สูญเสียผู้คนไปจำนวนมาก



ไม่เพียงเท่านั้น ยังคงมีการระบาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอหิวาตกโรคที่เกิดการระบาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 2 มีคนตาย 5,457 ศพ เฉลี่ยตายวันละ 194 ศพ และเจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคนี้



ในสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดการระบาดขึ้นใน พ.ศ. 2403 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 และอีก 2 ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือระบาดใหญ่ในปีระกา พ.ศ. 2416 ตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโรคครั้งที่ 4 และในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424



ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น แนวความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับวิธีคิดของชนชั้นนำสยามในช่วงเวลาด้วยเช่นกัน โดยเราจะเห็นการปะทะกันของสองความคิดนี้ได้ในความเห็นของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับพิธีอาพาธพินาศที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ว่า



“…เมื่อคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่า เกิดขึ้น (โรคระบาด) ด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ในเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกามาแต่ก่อน ยาที่กินนั้นก็เป็นยาเดาขึ้นใหม่ กินยาก็ต้องเป็นการลองไปในตัว คนจึงตายมาก จนเห็นกันว่าไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ ความคิดที่เชื่อพระผู้สร้างโลก เชื่อผีดีหรือเทวดา เชื่อผีร้ายคือปีศาจ ก็เข้าครอบงำความคิดคนทั้งปวงในเวลานั้น อาพาธพินาศ ซึ่งพระราชพิธีนี้เคยมีมาแต่โบกาล และคนส่วนใหญ่เชื่อถือ อาจไม่มีผลทางการแพทย์ แต่ก็ช่วยระงับความกังวลใจให้แก่ประชาชนในยามทุกข์…”



ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงพระราชวินิจฉัยอีกว่า



“…การพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด คนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่มาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และ ตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัดหนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่า เพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ ผีมีกำลังมากกว่า…”



ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในคำวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5 นั้นสะท้อนให้เห็นการปะทะกันของวิธีคิดทั้งความเชื่อและแนวคิดสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยทรงพยายามอธิบายพระราชพิธีนั้นในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผล กล่าวถึงการทดลอง การสังเกต สภาพอากาศ รวมถึงวิธีการรักษาโรคระบาดที่มองว่า พระราชพิธีนั้นไม่ได้ช่วยให้โรคระบาดลดลง แต่เป็นการให้กำลังใจประชาชน อย่างไรก็ตาม ก็ทรงไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง โดยยังกล่าวว่า ผู้คนยังเชื่อว่าผีมีกำลังมากกว่าพิธี

อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงความเชื่อกับเรื่องโรคระบาดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลายคนก็พอเข้าใจได้ เนื่องด้วยในสมัยนั้นวิธีคิดทางการแพทย์ยังคงเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย รวมถึงวิทยาการทางการแพทย์ก็ยังไม่ได้ดีเท่ากับในปัจจุบัน แต่ทำไมในปัจจุบันความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ยังคงปรากฏควบคู่กับเหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ในโลกที่วิทยาศาสตร์ได้สถาปนาอย่างสมบูรณ์แล้วในวิธีคิดของคน



อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์และแนวคิดความเป็นเหตุเป็นผลจะสถาปนาในวิธีคิดส่วนใหญ่ของคนในสังคมแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศาสนาและความเชื่อก็ยังคงมีพัฒนาการและยังคงดำรงควบคู่มาด้วยเช่นกัน



เพราะถึงแม้โลกจะพัฒนาไปอย่างไร แต่คนในสังคมก็ยังคงมีสภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตแปรผันไปตามยุคสมัยนั้นๆ และด้วยศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความคาดหวังจากสภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้คน ช่องว่างนี้จึงเป็นหน้าที่ของศาสนาที่จะทำหน้าที่เติมเต็มในสิ่งที่วิทยาการในโลกในปัจจุบันไม่สามารถให้คำตอบได้



ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยมะเร็ง แม้เราจะรู้ว่าวิทยาศาสตร์ช่วยเราได้ แต่กำลังใจเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ ศาสนาและความเชื่อจึงเข้ามาทำหน้าที่นี้ ดังนั้นศาสนาและความเชื่อจึงเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยเยียวยาควบคู่กับวิทยาการทางการแพทย์



ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 ยังทำให้เราเห็นอีกว่า นอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว รัฐก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของคนในโลกปัจจุบันด้วย



เมื่อรัฐไม่สามารถช่วยพยุงประชาชนหรือไม่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนได้ ศาสนาและความเชื่อจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่แทน ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 จึงเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนั้น



เช่นกัน ย้อนกลับมามองในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนล้มป่วย ล้มตายกันจำนวนมาก วิทยาศาสตร์ ณ เวลานี้ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้ามาแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์



ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังล้มเหลวและขาดประสิทธิภาพที่จะดูแลประชาชนในความปกครอง ไม่มีนโยบายช่วยเหลือ ป้องกันการระบาด ปล่อยให้ประชาชนเผชิญโรคระบาดตามยถากรรม



ดังนั้น ศาสนาและความเชื่อจึงเข้ามาทำหน้าที่นั้น เราจึงจะเห็นว่า ในบรรยากาศตอนนี้จึงปรากฏความเชื่ออะไรหลายๆ อย่างออกมา ไม่ว่าจะเหรียญห้อยคอต้านไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 คาถาป้องกันโรคภัยจากครูบาบุญชุ่ม (ถ้ำหลวง) หรือแม้แต่คำทำนายทายทักจากหมอดูจากหลายสำนักที่กล่าวถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ภายใต้ความไร้สาระเหล่านี้ กลับสะท้อนความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐได้เป็นอย่างดี

เครดิตข่าวโดย: THE STANDARD
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า