08 พ.ค. 2563
10 เรื่องการบินไทย ปฐมเหตุขาดทุน-ไร้สภาพคล่อง ต้องผ่าตัดใหญ่
1.มหากาพย์ขาดทุน
ปี 2551 การบินไทยขาดทุน 21,314 ล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ กระทั่ง “ดร.ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์” ได้รับเผือกร้อนให้มานั่งเก้าอี้ “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” (ดีดี) และ “บรรยง พงษ์พานิช” เป็นกรรมการการบินไทย เพื่อมาช่วยฟื้นฟูกิจการด่วน
ปี 2552 การบินไทยสามารถพลิกมาทำกำไรได้สูงถึง 7,344 ล้านบาท ต่อมาในปี 2553 กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 15,350 ล้านบาท
แต่ระยะเวลาการทำงานของมือดีทั้งสองจบลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2554
2.”เป็ดง่อย” แบก “ต้นทุนสูงเทียมฟ้า”
“บรรยง” โพสต์เฟซบุ๊กเผยถึงปัญหาที่แท้จริงของการบินไทย ระบุว่ามี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การขาดระบบที่ให้ข้อมูลได้ทันท่วงที เพื่อใช้วางแผนและปรับกลยุทธ์ 2.การวางแผนและจัดการทรัพยากรบุคคล และ 3.การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้ของมีคุณภาพ มีต้นทุนแข่งขันได้
ทั้งหมดทำให้การบินไทยมี “ต้นทุนสูงเทียมฟ้า” ต้องแบกค่าใช้จ่ายปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น การขายตั๋วโดยสารให้ถูกกว่าสายการบินอื่น ๆ จึงเป็นไปไม่ได้
“บรรยง” เปรียบการบินไทยเหมือน “เป็ดง่อย” แข่งสนามไหนก็แพ้ จนแทบไม่เหลือสนามให้แข่ง
3. “บินฟรี” ไม่ใช่สาเหตุหลัก
อีกเรื่องที่คนชอบเข้าใจผิดคือ การให้อภิสิทธิ์บินฟรีแก่นักการเมือง คณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ซึ่ง “บรรยง” ยืนยันว่า ไม่มีการออกตั๋วฟรีให้นักการเมือง ส่วนกรรมการก็มีการลดสิทธิ์ลงเยอะมาก จากบินฟรีตลอดชีวิตเป็นบินได้แค่ปีละ 10 เที่ยว ขณะที่พนักงานใช้สิทธิ์เป็นตั๋วยืนรอ ใช้ได้เมื่อว่างเท่านั้น
4.ต้นทุนสูง+โควิด = ผู้ป่วยอาการหนัก
การประกาศปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เสมือนการราดน้ำร้อนใส่แผลสดของการบินไทย ที่รายได้ก็ไม่มีเข้ามา แต่ยังคงต้องแบกต้นทุนหลักหมื่นล้านต่อเดือนต่อไป
การบินไทยในวันนี้ ประสบกับปัญหาขาดทุน – ไร้สภาพคล่อง โดยเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป สถานะหนี้เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่กว่า 1.5 แสนล้านบาท งเป็น หนี้ภายในประเทศ 101,511 ล้านบาท และ หนี้ต่างประเทศ 47,209 ล้านบาท
แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจการเงินรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า จุดเปลี่ยนและจุดเสี่ยงสำคัญของการบินไทยในวิกฤตรอบนี้คือ การที่ผู้บริหารโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 2,691 ล้านบาท และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 2.55 หมื่นล้านบาท ไปชดเชยผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการ 2.8 หมื่นล้านบาท (มูลค่า ณ เมื่อ 31 ธ.ค. 2561) เมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้การบินไทยไม่เหลือเงินคงคลัง เพื่อนำมาใช้ในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
5.ไม่ผ่าตัดก็เตรียมปิดกิจการ
อดีตผู้บริหารการบินไทยรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ทางเดียวที่การบินไทยจะอยู่รอดคือ ต้องกล้าที่จะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด ดาวน์ไซซ์ทั้งเรื่องขนาดองค์กร บุคลากร ฯลฯ
“จุดเปลี่ยนสำคัญของการบินไทยในตอนนี้ คือ หากรัฐบาลยังมองว่าประเทศไทยควรจะมีสายการบินแห่งชาติต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่เงินเข้ามาช่วยอุ้ม และต้องรีบจัดการให้เสร็จโดยเร็ว หรือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากสถานะของการบินไทยตอนนี้ไม่มีเงินเหลือที่จะเดินต่อไปแล้ว แต่ถ้าหากคิดว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติ ก็เตรียมปิดกิจการได้เลย”
6.เสนอกู้เงิน 5-7 หมื่นล้าน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งแรกในปี 2563 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ มี “วาระลับ” เป็นการแก้ปัญหาการบินไทย ที่มีภาระหนี้แสนล้านบาท หลังจาก คนร. (ซึ่งแต่งตั้งขึ้นหลังการยึดอำนาจปี 2557) พยายามเดินหน้าแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม เผยว่า แผนการฟื้นฟูที่เสนอ ประกอบด้วย วงเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000-70,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสดและใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2563 รวม 5 เดือน
“การบินไทยจะทยอยกู้เป็นรายเดือนเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม จะขอกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร”
นอกจากนี้ ยังมีแผนปลดระวางและกำหนดเครื่องบินใหม่ให้ตอบโจทย์การเดินทาง ต่อไปเครื่องบินลำใหญ่จะไม่มีความจำเป็นในการให้บริการอีกต่อไป และจะเปลี่ยนจากซื้อมาเป็นเช่าแทน โดยจะชะลอแผนซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้าน ไว้ก่อน
7.ลดสัดส่วนการถือหุ้นคลัง 50%
ส่วนข้อเสนอที่หารือกันใน คนร. คือการปรับโครงสร้างการบินไทยให้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “โฮลดิ้ง” โดยมีเพียง บมจ.การบินไทย ที่เป็นบริษัทแม่ และ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เท่านั้น ขณะที่บริษัทลูก จะมี 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฝ่ายครัวการบิน 2.บริษัท บริการภาคพื้น 3.บริษัท คลังสินค้า 4.บริษัท ฝ่ายช่าง และ 5.สายการบินไทยสมายล์ เพื่อให้การบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น
สถานะการบินไทยจะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สัดส่วนการถือหุ้นต่าง ๆ จะเปลี่ยนไป โดยกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% และให้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เข้ามาถือมากขึ้น อาทิ กองทุนรวมวายุภักษ์ เป็นต้น” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว
โดยการแก้ปัญหาการบินไทยจะเริ่มจากการดำเนินการภายใต้กฎหมาย คนร.ไปก่อน แต่หากถึงที่สุดแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องเข้าสู่กฎหมายล้มละลายต่อไป
8.ขอเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้าน
ส่วนระยะยาว การบินไทยจะขอเพิ่มทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 ล้านบาท อีก 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในการปรับการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อเดินหน้าธุรกิจในระยะต่อไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งการขอเพิ่มทุนจะต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
9. ดึงมือดีเข้าบริหารการบินไทยอีกครั้ง
แหล่งข่าวคาดว่าจะมีการทาบทามคนมีฝีมือให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการการบินไทยชุดใหม่ เพื่อทำงานเชิงรุก อาทิ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ บมจ.ปตท., นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่กำลังจะครบวาระผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นต้น รวมถึงมือดีคนอื่น ๆ
10.ชง ครม. ชี้เป็น-ชี้ตาย
การเสนอแผนให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินของการบินไทย คาดว่าจะเสนอ ครม.ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้ ครม.อนุมัติการแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าให้แก่การบินไทย และเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ระยะ 5 ปี (ปี 2563-2567) ต่อไป
แต่ล่าสุด แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า พลเอกประยุทธ์ เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันกู้เงินระยะสั้น วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท แล้ว เงื่อนไขสำคัญคือ การบินไทยต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้อนุมัติ
ตามแผนดังกล่าวจะต้องลดจำนวนพนักงานลงราว 30-40% โดยในวงเงินกู้ 5.4 หมื่นล้าน การบินไทยอาจนำบางส่วนไปเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการลดจำนวนพนักงานในลักษณะการเออร์รี่ รีไทร์
ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า “การบินไทยในเวลานี้ถือเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรม และถือว่าเป็นความเป็นความตายขององค์กร”
เครดิตข่าวโดย: ประชาชาติ