ครม.ช่วยสู้พิษโควิด ยังไม่แจกเงิน เน้นให้กู้ ชะลอหนี้ ลดค่าน้ำ-ไฟ เปรยถ้าไม่พอมีอีก

วันที่ 10 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อมว่า วันนี้มีการพิจารณาในชั้นต้นว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและในส่วนของผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการในระยะที่ 1และอาจจะต้องมีระยะ 2 และ 3 ต่อไป

"หลายอย่างที่ยังไม่ควรทำ และที่ยังทำไม่ได้ก็ไปรอระยะ 2 ระยะ 3 ก็รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อน วันนี้ก็มีหลายมาตรการที่ออกมาแล้ว อย่าลืมว่าต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ในการใช้เงินของรัฐให้ถูกต้อง"

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มต้นจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของ GDP นักท่องเที่ยวหดหาย ในเดือน ก.พ. นักท่องเที่ยวจีนหดตัวกว่าร้อยละ 85 และนักท่องเที่ยวโดยรวมหดตัวร้อยละ 44 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซากะทันหัน ต่อมาผลกระทบขยายวงไปยังภาคการอุตสาหกรรม ทำให้ห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขาดตอน การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ท้ายที่สุดผู้ประกอบการขาดรายได้ สภาพคล่องไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ขาดรายได้ เผชิญความเสี่ยงอาจถูกเลิกจ้างงานจำนวนหลายแสนคน

กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ก็อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน เช่น ทั้งการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเพื่อพยุงและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที
.
กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยยึดหลัก “ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจำเป็น” เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน มีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการด้านการเงิน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
1.1 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท

1.2 มาตรการพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และเงื่อนไขการรับประกันในด้านต่าง ๆ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงมีโครงการ Refinance หนี้บัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง

1.3 มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกในกลุ่ม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ เช่น ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

1.4 มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

2. มาตรการภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
2.1 มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 และลดเหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

2.2 มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

2.3 มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยต้องคงการจ้างงานในช่วงดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562

2.4 มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน

3. มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
3.1 มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน เป็นต้น ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19

3.2 มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0.1 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้าง พร้อมทั้งปรับลดจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และรัฐจ่ายเงินสมทบในจำนวนเท่าเดิม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

3.3 มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19

3.4 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยลดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ และระยะเวลาการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปรับเพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงให้หน่วยงานเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนปีเดียวที่เป็นการจัดหาพัสดุที่มีวงเงินต่อรายการไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563

3.5 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

3.6 มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยกำหนดให้มีแนวทางให้ส่วนราชการสามารถจ่ายเงินเพื่อป้องกัน เยียวยา สร้างแรงจูงใจในการคงการจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการเฉพาะและเร่งด่วน โดยได้เตรียมวงเงิน 20,000 ล้านบาท จากงบกลาง เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังมั่นใจ มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 จะช่วยบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า มาตรการเงินประกันการใช้ไฟฟ้าซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น เดิมเงินดังกล่าวจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยครม.จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนจึงเสนอให้คืนเงินดังกล่าว โดยคาดว่าจะเริ่มคืนเงินตามมาตรการเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเน้นกลุ่มมิเตอร์ขนาดเล็ก

.

ทั้งนี้ ในส่วนของการคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า จะคืนให้แต่ละครัวเรือนตามอัตราที่จัดเก็บไว้คือ 300 บาท, 2,000 บาท, 4,000 บาท และ 6,000 บาท ครอบคลุม 21.5 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท

เครดิตข่าวโดย: Workpoint News
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า