พนักงานสวนสัตว์แห่งนี้โดนปลดออกจากงาน แต่ก็ยังอาสากลับมาดูแลสัตว์ต่อ

"เหตุผลที่ฉันลืมตาตื่นตอนเช้าก็เพื่อจะได้ไปอยู่กับสัตว์ที่สวยงามเหล่านี้ น่าหนักใจมากเวลาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกมันในอนาคต"

เจนนา โลว์ อายุ 23 ปี เธอทำงานที่สวนสัตว์ แคนโก ไวด์ไลฟ์(Cango Wildlife) มาได้ 2 ปี ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา สวนสัตว์ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองอูดต์ชูร์นในแอฟริกาใต้แห่งนี้ เริ่มจากฟาร์มจระเข้เล็ก ๆ จนมาเป็นสวนสัตว์ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ เป็นที่อยู่ของสัตว์มากกว่า 90 สายพันธุ์

เมื่อเดือน มี.ค. รัฐบาลประกาศขยายการล็อกดาวน์จาก 3 สัปดาห์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด สวนสัตว์แห่งนี้จึงต้องปิดตัวลง และ 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด รวมถึงเจนนาด้วย ต้องตกงาน อย่างน้อยก็ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย

หลังทราบข่าวร้าย สิ่งแรกที่เธอคิดคือ จะเกิดอะไรขึ้นกับเสือชีตาห์และตัวลีเมอร์ที่เธอคอยดูแลมา

แอนเจลิค ออคโทเบอร์ เพื่อนร่วมงานเธอ ก็คิดเหมือนกัน

"เราเป็นแม่ของสัตว์เหล่านี้ และแม่จะไม่ทิ้งลูก ๆ ไปในตอนที่พวกมันต้องการแม่ที่สุด" แอนเจลิค ในวัย 25 ปี บอกกับบีบีซี

แม้จะไม่ได้เงินเดือนอีกต่อไป เจนนาและแอนเจลิคก็ยังกลับไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น และก็เจอเพื่อนพนักงานอีกกว่า 40 คนด้วยที่อาสาสมัครมาทำงานแม้ว่าจะไม่ได้เงิน หลังจากเจ้าของจำเป็นต้องลดพนักงานจาก 78 เหลือ 24 คน เพื่อให้สวนสัตว์ยังประคองกิจการต่อไปได้

"เราทำงานกับสัตว์ที่ทั้งอันตรายและอ่อนไหวมาก มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย" เครก กุส ผู้จัดการผู้ทำงานที่สวนสัตว์นี้มากว่า 20 ปี กล่าว "ผมรักที่จะทำงานที่นี่มาก และให้ความสำคัญกับงานนี้เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต"

แอนดรูว์ อีริกสัน เจ้าของสวนสัตว์แห่งนี้บอกกับบีบีซีว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เขายังเห็นความหวังอยู่เมื่อได้เห็นพนักงานมาทำงานกันโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เงินเดือน

สวัสดิภาพสัตว์มาก่อน
สวนสัตว์ แคนโก ไวด์ไลฟ์ มีสัตว์มากกว่า 4,000 ตัว และต้องใช้เงินเดือนละ 118,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.6 ล้านบาท สำหรับดูแลสัตว์ ก่อนรัฐบาลจะสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ที่นี่มีผู้เข้าชมปีละราว 1.2 แสนคนต่อปี

แม้ว่าทางการจะค่อย ๆ คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ยังไม่ถึงคิวภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

"เป็นเรื่องยากมากที่เราจะอยู่รอดได้" เอริกสัน กล่าว "เราไม่ได้งบจากรัฐบาลเลยและมีรายได้จากบัตรเข้าชมเท่านั้น"

ผลกระทบทั่วโลก
สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์รับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สวนสัตว์เชสเตอร์ในอังกฤษออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่าการล็อกดาวน์ทำให้สวนสัตว์ต่าง ๆ "เสี่ยงสูญพันธุ์"

"ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาช่างยากลำบากมากสำหรับสมาชิกสมาคมของเรา" แกฟรีล เคิร์ก-โคเฮน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก(World Association of Zoos and Aquarium) ระบุ

เขาบอกว่าสวนสัตว์หลายแห่งดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร และต้องพึ่งเงินจากบัตรเข้าชมเพียงอย่างเดียว

"เงินที่เข้ามาไม่ใช่เพียงเพื่อให้อาหารสัตว์ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถดูแลสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างมีมาตรฐานสูงสุด และยังสนับสนุนโครงการเพื่อการอนุรักษ์หลายโครงการทั่วโลกด้วย"

สมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลกมีสมาชิกราว 300 ราย และคาดว่าทั่วโลกมีสวนสัตว์มากกว่า 10,000 แห่ง แต่ก็ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการยืนยัน

ใกล้ชิดขึ้น
ผู้ดูแลที่กลับไปทำงานที่สวนสัตว์ แคนโก ไวด์ไลฟ์ บอกว่า พฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนไป

"สัตว์พวกนี้สงสัยว่าทำไมไม่มีคนมาเยี่ยม" เจนนา กล่าว "พวกมันยืดคอดูตลอดเวลาว่ามีใครมาหาหรือเปล่า"

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการล็อกดาวน์คือสัตว์มีสายสัมพันธ์กับผู้ดูแลของพวกมันดีขึ้น

ไร้เงินเดือน

พนักงานที่สวนสัตว์หลายคนมาอาสาสมัครช่วยงานแม้ว่าจะลำบากเรื่องเงินอยู่แล้ว และก็ต้องพยายามหารายได้ด้วยวิธีอื่นในช่วงนี้

เครก กุส พยายามสร้างธุรกิจขายของไปด้วยขณะมาอาสาช่วยงานที่สวนสัตว์

"ก่อนหน้านี้ ผมไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า และค่าอื่น ๆ อย่างเช่นประกัน" กุส กล่าว

"ผมต้องทำงานอีกถึง 6 ชั่วโมง เพื่อที่จะมีเงินไปจ่ายค่าเช่าบ้านและอื่น ๆ เพิ่มจาก 10 ถึง 12 ชั่วโมงที่ต้องไปดูแลสัตว์ที่สวนสัตว์อยู่แล้ว"

เจนนาก็บอกว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเธอเช่นกัน แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากสัตว์ที่เธอดูแล

"การได้เห็นสัตว์มีความสุขทำให้ฉันมีความหวังว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติ "

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า