05 พ.ค. 2563
ตายเพราะอดอยาก ไม่ใช่โควิด คนไทยทุกข์ระทมหนัก ตกงาน 11 ล้านราย
โควิดนอกจากทำให้ผู้คนล้มตายและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ยังสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คนที่ยังต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพและครอบครัว โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ เพราะโควิดทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก คนทยอยตกงานถูกเลิกจ้างมากขึ้น รายได้ที่เคยมีกลับหดหายไป ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดวิกฤติโควิดจะจบลง และชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป กับคำถามจะมีคนล้มตายเพราะอดตายอีกมากมายเพียงใด?
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com พบว่า ณ วันที่ 24 เม.ย. จำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงถึง 37.4% นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศล็อกดาวน์ โดยเฉพาะงานพาร์ทไทม์ ที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจสูง จำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงถึง 55.4%
- แม้สัดส่วนงานพาร์ทไทม์จะมีไม่มากบนเว็บไซต์ JobsDB.com หรือมีเพียง 0.8% ของประกาศทั้งหมด แต่อาจเป็นตัวสะท้อนภาวะการจ้างโดยรวมที่กำลังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากได้
- จำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงในทุกกลุ่มเงินเดือน โดยงานที่ได้เงินเดือนน้อยมีจำนวนลดลงมากกว่างานเงินเดือนสูง โดยกลุ่มเงินเดือนน้อยกว่า 1.5 หมื่นบาท ลดลงมากที่สุดถึง 50.9% ขณะที่งานที่ได้เงินเดือนสูงกว่า มีจำนวนประกาศรับสมัครงานที่ลดลงน้อยกว่าลดหลั่นกันไปตามลำดับ
- สาเหตุที่งานที่ได้เงินเดือนน้อยมีจำนวนลดลงมากเป็นพิเศษ น่าจะมาจากเป็นคนส่วนใหญ่ในสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จำนวนงานลดลงถึง 63.0% ตามมาด้วยการผลิตรถยนต์ และค้าส่งค้าปลีก ลดลงที่ 58.9% และ 48.0% ตามลำดับ จากการหดตัวของกำลังซื้อและการหยุดชะงักของหลายๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- งานเงินเดือนสูงเป็นงานในสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า หรือเป็นงานที่ใช้ทักษะสูงและงานระดับผู้บริหาร โดยงานที่ได้รับเงินเดือนในช่วง 3-5 หมื่นบาท มีสัดส่วนสูงที่สุดในเว็บไซต์ JobsDB.com คิดเป็น 36.0% ของประกาศรับสมัครงานทั้งหมด
- งานในสาขาธุรกิจอื่นๆ มีการลดลงในระดับเกิน 20% ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กินวงกว้างและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ถดถอย มีเพียงงานในองค์กรภาครัฐ/องค์กรอิสระ คิดเป็น 0.3% ของการรับสมัครงานทั้งหมด ที่ยังมีประกาศรับสมัครงานเพิ่มขึ้นที่ 25.0% ในช่วงเดียวกัน
- การลดลงของประกาศรับสมัครงาน สะท้อนถึงสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซาอาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว เป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากและกินวงกว้าง โดยสาเหตุหลักมาจากธุรกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการใช้จ่ายและการจ้างงานในภาวะที่ความไม่แน่นอนด้านรายได้ยังสูง
- สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้กำลังแรงงานที่ว่างงาน รวมถึงกลุ่มบัณฑิตจบใหม่จะหางานได้ยากขึ้น และสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้ จะส่งผลต่อเนื่องทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างในระยะต่อไปมีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในฐานะอดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติเลิกจ้างและการว่างงานจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในไตรมาสสองต่อเนื่องไตรมาสสาม ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก สถานการณ์วิกฤติเลิกจ้างและการว่างงานจะยืดเยื้อไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี การทำงานหรืออาชีพบางอย่างจะค่อยๆ หายไปจากระบบ
ขณะที่การทำงานหรืออาชีพบางอย่างจะขยายตัวเพิ่มขึ้น พร้อมเกิดอาชีพใหม่ๆ แต่การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานจะน้อยกว่าตำแหน่งงานที่หายไปมาก เป็นผลจากการหดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม แรงงานมนุษย์ต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และสมองอัจฉริยะในอัตราเร่งและกลายเป็นผู้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
กระบวนการปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้ ต้องอาศัยบทบาทของรัฐในการกำหนดยุทธศาสตร์ การสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการส่งเสริมงานด้านต่างๆ ในการปรับทักษะของคนทั้งสังคม ผ่านระบบการศึกษา การฝึกอบรม และโครงการฝึกปฏิบัติ โครงการและแผนงานต้องทำเป็นโครงการขนาดใหญ่โดยรัฐเอง หรือสนับสนุนภาคเอกชนและธุรกิจอุตสาหกรรมดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจจะมีคนว่างงานในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้จะยังมีการทำงานต่ำระดับและว่างงานแฝงจำนวนมากอีกด้วย กรณีเลวร้ายสุดการว่างงานอาจแตะระดับ 28% ของกำลังแรงงาน 38.41 ล้านคน ทำให้คนว่างงานและไม่มีงานทั่วประเทศเกือบ 11 ล้านคน โดยแรงงานในภาคบริการและการค้าที่มีกำลังแรงงานอยู่ 18.08 ล้านคน อาจจะว่างงานไม่ต่ำกว่า 30-60% เป็นระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 2 ปี นับจากต้นปี 2563
เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ