อนาคตใหม่ : ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยชี้ยุบพรรคสะท้อนว่าการเมืองไทยยังอยู่ในมือชนชั้นนำ

อนาคตใหม่ : ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยชี้ยุบพรรคสะท้อนว่าการเมืองไทยยังอยู่ในมือชนชั้นนำ - BBCไทย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวันที่ 21 ก.พ. ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่จับตาของผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยหลายคน

"การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า อำนาจทางการเมืองในประเทศไทยตกอยู่ในมือชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากเลือกตั้งโดยประชาชน และผู้ใดก็ตามที่สั่นคลอนสถานะนี้ย่อมต้องถูกลงทัณฑ์" เพตรา เดซาโตวา นักวิจัยด้านการเมืองไทย จากสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวกับบีบีซีไทย

ดร. เดซาโตวา กล่าวด้วยว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะไม่ช่วยแก้ปัญหาการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศไว้เมื่อคราวยึดอำนาจปี 2557 ว่าจะเข้ามาสร้างความปรองดอง แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นในอนาคต

"ตลอด 5 ปี ของการปกครองด้วยกองทัพ และตามมาด้วยการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยคำถาม ประเทศไทยจะยังคงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันต่อไป หรือมากกว่าสถานการณ์ในช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2557"

ด้านอาจารย์ ยาสุฮิโตะ อาซามิ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย แห่งภาควิชาการเมืองโลก แห่งมหาวิทยาลัยโฮเซ ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยในเรื่องนี้ว่าคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิ่มความกังวลของนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติที่ลงทุนมากที่สุดในไทยต่อสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคต

"นักลงทุนญี่ปุ่นก็รู้อยู่ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่จะทำให้คนไทยคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่พอใจและผิดหวังกับรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้น และความเชื่อถือของสถาบันตุลาการในสายตาของคนรุ่นใหม่ก็คงลดลง"

อย่างไรก็ตาม อ.อาซามิ บอกว่า ยังยากที่จะประเมินในระยะใกล้ว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะมีปฏิกริยาในเรื่องนี้อย่างไร แต่ผลกระทบทางลบที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก

ส่วนผลกระทบทางการเมืองในอนาคตนั้น อ.อาซามิ เห็นว่าคนรุ่นใหม่จะหมดความหวังกับการต่อสู้ในระบอบรัฐสภาและคิดจะสู้นอกรัฐสภา ถ้าไม่มีทางเลือก สิ่งนี้อาจจำเป็น แต่มักจะมีต้นทุนทางสังคมสูง หากผู้มีอำนาจไม่เอาจริงเอาจังในการหาทางปรองดอง ความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่อาจจะทำลายเสถียรภาพไม่เพียงเฉพาะทางการเมือง แต่ยังทำลายเสถียรภาพในด้านอื่น ๆ ในสังคมด้วย

"หากผู้มีอำนาจไม่ให้ผู้ที่มีความไม่พอใจได้ต่อสู้นอกสภาโดยใช้ทุกวิธี อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่หมดความหวังโดยสิ้นเชิง ทำให้พวกเขาไม่กล้าคิดไม่กล้าพูด เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลอาจจะอยู่รอด แต่สังคมที่ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าพูดยากที่จะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจด้วย"

เครดิตข่าวโดย: BBC THAI
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า