หารือ สพฐ. สอศ. สทศ. และ สมศ.เรื่อง O-NET และ V-NET

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือแนวทางการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (Vocational National Educational Test: V-NET) โดยมีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาการ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนไทยในทุกระดับชั้น ให้มีศักยภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ อาทิ การสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น พัฒนาทักษะเพื่อเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้ ต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การวัดผล และการทดสอบนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบ O-NET และ V-NET ซึ่งอาจจะเริ่มดำเนินการจากการสอบ O-NET ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานและการทดสอบที่ตั้งไว้

ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อสอบพอสมควร จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. หารือร่วมกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอน ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษามาตรฐานของการสอบที่ไม่ง่ายจนเกินไป เพียงแต่ต้องการให้การทดสอบสะท้อนสมรรถนะของเด็กอย่างแท้จริง

ในส่วนของครูผู้สอนนั้น ก็ต้องเข้าใจแนวทางของข้อสอบ และปรับวิธีการสอนให้ส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะของเด็กให้บรรลุตามมาตรฐานการศึกษาในแต่ละรายวิชา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างการศึกษาพื้นฐานที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่ตรงตามมาตรฐานอย่างทั่วถึง

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน

เครดิตข่าวโดย: กระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า