สพฐ. ตั้งศูนย์บริการโควิด-19 เล็งเลื่อนเปิดเทอม-เรียนออนไลน์

สพฐ. ตั้งศูนย์บริการโควิด-19 เล็งเลื่อนเปิดเทอม-เรียนออนไลน์
.
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 นายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยไม่อนุญาตให้บุคลากรไปราชการในต่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงก่อนมีประกาศของ สธ. ออกมา จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ สพฐ. จะมีคณะทำงานเพื่อจัดตั้งศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จเรื่องไวรัสโควิด-19 โดยตรง มีนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้ดูแล ซึ่งจะบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่เกี่ยวกับ สพฐ. ทั้งหมด เพราะปัจจุบันทุกสำนักงานในสังกัด สพฐ. ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 มาจำนวนมาก อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน อีกทั้ง สพฐ. มีนักเรียนอยู่ในระบบกว่า 6.7 ล้านคน รวมถึงผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกกว่า 5.4 แสนคน หากปล่อยมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ออกไป โดยที่ยังขาดความชัดเจน หรือมีหลายข้อมูลมากเกินไป จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน จึงเตรียมตั้งศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จขึ้นมาเพื่อจัดการและรับมือเรื่องเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด

ทั้งนี้ ภายในเดือนเมษายน สพฐ. จะหารือมาตรการการเปิดภาคเรียน โดยจะพิจารณาตามกรณี หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสลุกลามมากเกินไป อาจจะมีการเลื่อนเปิดภาคเรียน หรือในกรณีที่การระบาดของไวรัสควบคุมได้ในบางพื้นที่ ให้พื้นที่ไปบริหารจัดการ เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากอาจจะเลื่อนเปิดภาคเรียน หรือเรียนทางออนไลน์ หรือโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจไม่ได้รับผลกระทบ ก็ให้เปิดภาคเรียนตามกำหนดการเดิมได้
.
ทางด้านการรับนักเรียนปีการศึกษา 2563 เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ปฏิทินการรับสมัครนักเรียนไม่สามารถเลื่อนได้ เพราะหากเลื่อนการรับสมัครออกไปจะกระทบหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เข้ามาสมัครเรียนไม่ได้มาทุกชั้นเรียน มาเฉพาะระดับชั้นที่มีการสอบคัดเลือกเท่านั้น โดยโรงเรียนจะต้องคัดกรองนักเรียน เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจสอบข้อมูลความเสี่ยงว่าคนในครอบครัวได้เดินทางไปยังประเทศเสี่ยงหรือไม่ และประสานหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาดูแลสถานการณ์เป็นเฉพาะกรณีไป เช่น จัดพื้นที่ดูแลนักเรียนที่มีไข้สูงโดยเฉพาะ เป็นต้น

“ในส่วนของการรับนักเรียนเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ นั้น ได้มีการกำชับให้มีการจัดการตามมาตรการป้องกัน อีกทั้งการรับนักเรียนจะมีนักเรียนเพียงบางชั้นเรียนเท่านั้นไม่ได้มาครบทุกคน และในส่วนของผู้ปกครองเองก็ต้องดูแลบุตรหลานของตัวเองอย่างเต็มที่ ดังนั้นคิดว่าสามารถดำเนินการการรับนักเรียนต่อไปได้ เพราะหากเลื่อนอาจจะส่งผลกระทบในหลายด้าน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

เครดิตข่าวโดย: ประชาสัมพันธ์ สพฐ.
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า