มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ผนึก ธ.ออมสิน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ในสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมส่งผลให้ผู้คนประสบปัญหาหลากหลายมิติ หนึ่งในปัญหาหลักที่เกาะติดสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยหรือ คนในระดับฐานรากของประเทศคือปัญหาเศรษฐกิจหรือรายได้ที่จะนำไปจุนเจือครอบครัว

จากปัญหาดังกล่าวมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต (มกบ.) จึงจับมือกับธนาคารออมสินเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการจัด “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ซึ่งการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ผนึกพลังร่วมกับคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการระดมอาจารย์และนักศึกษาเข้าสู่ชุมชนพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพฯ เพื่อร่วมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพสามารถเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัวตามนโยบายของรัฐบาล

น.ส.ชนิดา โพธิ์สว่าง นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนนักศึกษาที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการในฐานะทีมชนะเลิศการประกวดผลงานการบริหารจัดการโครงการ กล่าวว่า ตนมุ่งมั่นมานานแล้วว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะขอเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน เมื่อมหาวิทยาลัยและธนาคารออมสินเปิดโอกาสจึงถือได้ว่าเป็นความโชคดี ที่ได้นำความรู้และประสบการณ์จากห้องเรียนไปถ่ายทอดให้กับผู้นำและสมาชิกในชุมชน สิ่งที่พบและเห็นว่าชาวบ้านยังขาดโอกาสในการสร้างราย โดยเฉพาะช่องทางและนวัตกรรมใหม่รวมทั้งการบริหารจัดการ แต่เมื่ออาจารย์และนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม ชุมชนจึงสามารถขับเคลื่อนไปได้

นายกัณฑชาติ มนต์กันภัย นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า รู้สึกประทับใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชน ต้องขอบคุณชาวบ้านตลอดจนมหาวิทยาลัย คณาจารย์และธนาคารออมสินที่เปิดโอกาสดีๆ เช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่พบจากการเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้คือชุมชนและชาวบ้าน มีช่องทางในการทำมาค้าขายและสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างแดนที่มาเยือนประเทศไทย

น.ส.อัจฉรานันท์ ธนินท์ธนณัฐ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ กล่าวว่า ตอนแรกไม่มั่นใจว่าจะทำงานนี้ได้ดีดังที่อาจารย์คาดหวังหรือไม่ แต่เมื่อลงไปสัมผัสกับวิถีชาวบ้าน พบว่าความยากจนไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับชุมชนหรือชาวบ้านในต่างจังหวัดเท่านั้น แต่ชาวบ้านหรือชุมชนซึ่งอยู่หลังตึกระฟ้าในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็ประสบด้วยเช่นกัน และอาจจะมากกว่าในต่างจังหวัดด้วยซ้ำ ด้วยปัญหาดังกล่าวตนจึงปรับตัวและร่วมกับคณาจารย์ในการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมในมิติต่างๆ เพื่อเปิดช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้มากเท่าที่จะมากได้ พอเห็นรอยยิ้มของชาวบ้านก็รู้สึกว่าคุ้มกับการทุ่มเท

ปิดท้ายที่ นายหฤทษดิ์ หวังพิทักษ์ นักศึกษาสาขาวิชาการขนส่งระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า ชีวิตนักศึกษาหากอยู่แต่ในห้องเรียนไม่ออกไปเรียนรู้และสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอก ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ขาดโอกาสและประสบการณ์ครั้งสำคัญ ตอนแรกที่ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์แจ้งให้ทราบถึงนโยบายของรัฐบาล และธนาคารออมสิน ตลอดจนการบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเพื่อจะเข้าไปต่อยอดและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ตามโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น รู้สึกประทับใจจึงอาสาเข้าไปมีส่วนร่วมทันที สิ่งที่ได้นอกจากประสบการณ์ที่หาไม่ได้แล้ว คือการได้ร่วมพัฒนาสังคมและประเทศชาติ

โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นนอกจากจะเป็นหนึ่งในมิติของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่จะสอนนักศึกษาเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

เครดิตข่าวโดย: post today
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า